• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ มอบใบประกาศ ‘พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว’ ให้แก่จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานมอบใบประกาศพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่ 5 หน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายศักดิ์ชัย คณานุวัฒน์ชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนจากหน่วยงานประกอบด้วย อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เป็นผู้รับมอบ โดยมี นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีฯ นายอิศเรศ โรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา นางสุนีย์ ศักดิ์เสือ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2520 พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติออบขาน และอุทยานแห่งชาติขุนขาน ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง และ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า และเมื่อปีที่ผ่านมาพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว รวมถึงพื้นที่บางส่วนของอำเภอเชียงดาว และอำเภอเวียงแหง ได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 นับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล 2 พื้นที่ ในจังหวัดเชียงใหม่ จากทั้งหมด 5 แห่ง ในประเทศไทย  และ 738 แห่งทั่วโลก ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของชาวเชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าความโดดเด่น ความสำคัญ และความสำเร็จ ในหลายมิติของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งด้านความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ พืชพรรณไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด ที่อยู่ในพื้นที่ มีความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนในท้องถิ่น

การที่พื้นที่ดอยเชียงดาวได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลนั้น เนื่องมาจากความสำคัญของพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่เชื่อมโยงกับสังคมพืชในแนวเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ของจีน ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แกนกลางที่ได้รับการดูแลโดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มาเป็นเวลากว่า 40 ปี นอกจากนี้ ยังมีกลไกการจ่ายแทนคุณระบบนิเวศในพื้นที่บ้านปางมะโอ และศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ โดยเฉพาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยหลวงเชียงดาวที่มีชื่อเสียง รวมไปถึงการจัดทำแผนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ และแผนพัฒนาอำเภอ ที่มีความสอดคล้องกับแนวคิดของพื้นที่สงวนชีวมณฑล จากความโดดเด่นของทรัพยากรและการทำงานร่วมกันดังที่กล่าวมาแล้ว พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จึงได้ถูกเลือกเป็นพื้นที่นำร่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โดยมีแนวทางการดำเนินงานสำคัญๆ ได้แก่ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสร้างฐานข้อมูล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การลดขยะและของเสีย การส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากฐานทรัพยากร การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่สงวนชีวมณฑล วงเงิน 3.8 ล้านบาท เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG และพื้นที่สงวนชีวมณฑล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ การจัดทำแผนบูรณาการ และเพิ่มจำนวนพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่นำร่องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจาก ทุกภาคส่วน การเชื่อมโยงการทำงานจากหน่วยเล็กๆ ไปยังหน่วยใหญ่ จากหมู่บ้าน ไปสู่อำเภอและจังหวัด จากโรงเรียน ถึงสถาบันการศึกษาและเครือข่ายนักวิจัย จากวิสาหกิจชุมชน สู่กลุ่มผู้ประกอบการ ธุรกิจและบริการ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีต่างๆ ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด