• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ จับมือ ซีพี-เมจิ ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ขหล.เขาวงจันแดง

วันที่ 11 พฤษภาคม 2565นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาวงจันแดง จังหวัดลพบุรี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด โดยมี นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ร่วมลงนาม พร้อมด้วย นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และ ว่าที่ ร.ท.รุ่งศักดิ์ ขุนวิเศษ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ร่วมเป็นพยาน พร้อมด้วย นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีฯ และคณะผู้บริหารเข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 2 อาคารสืบ นาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติฯ

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีพันธกิจสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป้องกันรักษาพื้นที่ป่าที่มีความสมบูรณ์ให้คงอยู่ และการฟื้นฟูสภาพป่าที่มีความเสื่อมโทรม ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ลดปัญหาภาวะโลกร้อน ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน เป็นประโยชน์กับประชาชน สังคมและประเทศชาติ ความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การร่วมฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมสร้างผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ โดยการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการปฏิบัติงาน รวมทั้งส่งเสริมสวัสดิการให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ปฏิบัติงานป้องกันดูแลรักษาพื้นที่ป่าด้วยความทุ่มเทและเสียสละ การลงนามความร่วมมือตามโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาวงจันแดง จังหวัดลพบุรี ในวันนี้ เป็นการร่วมดูแลรักษาผืนป่าของประเทศ เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืนสืบไป

ด้าน นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าวว่า ซีพี-เมจิ มีนโยบายด้านความยั่งยืน เรื่อง การเพิ่มคุณค่าชีวิตให้สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น วิกฤติโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของประชากรโลก ซีพี-เมจิ จึงมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการช่วยเหลือสังคม ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งแผนการใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการน้ำการจัดการขยะ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นองค์กร Net Zero เช่นเดียวกับเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพี-เมจิ ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน” เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูผืนป่า และปลูกป่าต้นน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก เขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาวงจันแดง จังหวัดลพบุรีและสระบุรี รวม 150 ไร่ ในปี 2565 โดยมีแผนระยาว เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครบจำนวน 1,000 ไร่ ในปี 2573

ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ “ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน” ประจำปี 2565 จะดำเนินการร่วมกันปลูกต้นไม้ 16,000 ต้น บนพื้นที่ 80 ไร่ ในตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี จัดทำแนวกันไฟและสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่า สร้างเครือข่ายชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนกองทุนสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นการขยายผลต่อเนื่องจาก MOU ในปี 2564 ที่มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปแล้วกว่า 70 ไร่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด