• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยาน​ฯ ศรีลานนา รับมอบลูกเก้งพลัดหลงส่งมอบสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย

วันที่ 21 เมษายน 2565 นายภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เปิดเผย​ว่า​ นางสาวพัชราภรณ์ อุทยาน หัวหน้าฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า นายบุรฉัตร ตันประดิษฐ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) และนายครินทร์ หิรัญไกรลาส หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานี ร่วมกับ ร.ต.ท.นคร ปัญญาทิพย์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพร้าว ประธานที่ปรึกษาชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอพร้าว คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติศรีลานนา นายสวาท เนรวรรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลป่าไหน่ พร้อมด้วยคุณวันเพ็ญ ปัญญาทิพย์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอพร้าว และคณะ เดินทางไปยัง หมู่บ้านแม่งัดน้อย หมู่ 4 ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านกลางป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา

สืบเนื่องจาก อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ได้รับแจ้งจาก ร.ต.ท.นคร ปัญญาทิพย์ และนายสวาท เนรวรรณ์ คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ว่า นายดาวิ จะนุ ราษฎรชาวลาหู่ บ้านแม่งัดน้อย แจ้งว่า พบสัตว์ป่า (ลูกเก้ง) จำนวน 1 ตัว น่าจะพลัดหลงจากแม่และเดินหลงเข้ามาในบริเวณสวนของชาวบ้าน จึงได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ช่วยมารับไปอนุบาลดูแล จากนั้น อุทยานฯ จึงได้ประสานไปยัง ฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย มาช่วยดำเนินการตรวจประเมินสุขภาพก่อนนำเคลื่อนย้ายไปดูแลยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า

จากการตรวจสุขภาพเบื้องต้น พบว่า ลูกเก้ง เพศเมีย อายุประมาณ 2 เดือน มีสุขภาพร่างกายค่อนข้างแข็งแรง เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันทำการเคลื่อนย้ายไปดูแลยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย เพื่อทำการตรวจสุขภาพอย่างถี่ถ้วน และประเมินสภาพก่อนทำการปล่อยกลับคืนสู่ป่าต่อไป

เก้ง เป็นสัตว์กีบที่เห็นได้ง่ายที่สุดชนิดหนึ่งในป่าเมืองไทย รูปร่างแบบกวาง แต่ตัวเล็ก หลังโก่งเล็กน้อย ลำตัวสีน้ำตาลแดง ด้านใต้ซีดและอมเทาเล็กน้อย หางด้านบนสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างสีขาว เก้งตัวผู้มีเขาสั้น ฐานเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระโหลกยื่นยาวขึ้นไปเป็นแท่ง มีขนปกคลุม และมีขนสีดำขึ้นตามแนวเขาจนดูเป็นรูปตัววีเมื่อมองด้านหน้าตรง ส่วนปลายเขาสั้น แต่เป็นง่ามเล็กๆ แค่สองง่าม ไม่แตกเป็นกิ่งก้านแบบกวาง ผลัดเขาปีละครั้ง ส่วนตัวเมียไม่มีเขาและฐานเขา แต่บนหน้าก็มีขนรูปตัววีเหมือนกัน เก้งตัวที่อายุมากผู้มีเขี้ยวยาวแหลมโค้งโผล่พ้นขากรรไกรออกมา เก้งเวลาเดินจะยกขาสูงทุกก้าว เก้งร้องเสียงคล้ายหมาเห่า แต่ดังมาก จนบางคนที่ได้ยินเมื่อเข้าป่าอาจตกใจคิดว่าเป็นหมาป่าได้ ภาษาอังกฤษจึงเรียกเก้งอีกชื่อหนึ่งว่า barking deer ซึ่งแปลว่า “กวางเห่า” ปกติตกลูกครั้งละหนึ่งตัว ตั้งท้องนานราว 6 เดือน ออกลูกตามใต้พุ่มไม้ ลูกเก้งมีจุดสีขาวตามตัว เมื่ออายุได้ราว 6 เดือน จุดสีขาวนั้นจึงค่อยจางหายไป เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เมื่ออายุได้ 18 เดือน อายุขัยประมาณ 15 ปี ในประเทศไทย ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามบัญชีแนบท้าย กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2562

พบเห็นสัตว์ป่าพลัดหลง แจ้งสายด่วน 1362 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด