วันที่ 12 เมษายน 2565 นายธงชัย นาราษฎร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ส่วนกลางอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เข้ารับการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางบกและทางน้ำรวมทั้งทักษะในการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้อุปกรณ์กู้ภัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยว โดยมีวิทยากรจากอาสากู้ภัยโนนสัง ให้การฝึกอบรมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์แหลมสำราญ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ
การช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR) หมายถึง การช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม ป้องกันเนื้อเยื่อได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร ซึ่งสามารถทำได้โดยการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic lifesupport)ได้แก่ การผายปอด และการนวดหัวใจภายนอก ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจ โดยที่หัวใจยังคงเต้นอยู่ประมาณ 2-3 นาที ให้ผายปอดทันที จะช่วยป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจนอย่างถาวร ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นพร้อมกัน ซึ่งเรียกว่า clinical death การช่วยฟื้นคืนชีพทันทีจะช่วยป้องกันการเกิด biological death คือ เนื้อเยื่อโดยเฉพาะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจน ระยะเวลาของการเกิด biological death หลังจาก clinical death ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่โดยทั่วไป มักจะเกิดช่วง 4-6 นาที หลังเกิด clinical death ดังนั้นการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพจึงควรทำภายใน 4 นาที โดยมีลำดับขั้นในการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ ขั้นพื้นฐานประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่สำคัญ คือ A B C ซึ่งต้องทำตามลำดับคือ A – Airway : การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง B – Breathing : การช่วยให้หายใจ และ C – Circulation : การนวดหัวใจเพื่อช่วยให้เกิดเลือดไหลเวียนอีกครั้ง