• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานฯ แม่วงก์ เปิดภาพหายาก ‘แม่เสือโคร่ง’ MKF13 พร้อมลูก 2 ตัว โผล่กล้องดักถ่ายงานวิจัย

วันที่ 9 เมษายน 2565 นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เปิดเผยว่า จากงานวิจัยโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า โดยร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) โดย ดร.รุ้งนภา พูลจำปา หัวหน้าโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีระเบียบวิธีวิจัยคือ การติดตามประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าโดยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap Survey) ปรับปรุงและฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแผนการปล่อยสัตว์กีบคืนสู่ธรรมชาติ (Wildlife Reintroduce) ส่งเสริมระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ของชุมชนและโรงเรียนรอบพื้นที่

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์การกระจายของประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่ศึกษา เพื่อดำเนินการปรับปรุงและฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ารวมทั้งดำเนินการปล่อยคืนสัตว์กีบขนาดใหญ่สู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการกระทำผิดกฎหมายโดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วนในการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อศึกษาวิจัยการกระจายและความมากมายของประชากรของเสือโคร่งและเหยื่อ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการทางด้านงานป้องกันและการจัดการสัตว์ป่าในพื้นที่รวมถึงการสนับสนุนระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทั้งทางด้านทฤษฎีและด้านการปฏิบัติงานให้ได้มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการลาดตระเวน และเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน

จากผลการติดตามประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าโดยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap Survey) มีการติดตั้งกล้องจำนวน 94 จุด พบการกระจายของเสือโคร่งตัวเต็มวัยกระจายเต็มพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จำนวน 14 ตัว เป็นเพศผู้ 6 ตัว เพศเมีย 8 ตัว และลูกเสือโคร่ง 2 ตัว เฉลี่ยประมาณ 54.50% ของจำนวนจุดติดตั้ง คิดเป็นความหนานแน่น (ตัว/100 ตร.กม.) เท่ากับ 0.63 (≈ 1) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ทั้งหมด 35 ชนิด เช่น ช้างป่า เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว หมีหมา หมาใน หมาจิ้งจอก ชะมดหางปล้อง อีเห็นหน้าด่าง วัวแดง กระทิง กวางป่า เลียงผา หมูป่า เก้งธรรมดา เป็นต้น ซึ่งจัดจำแนกอยู่ในบัญชี IUCN Red List ด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยได้เข้าเก็บกู้เมมโมรี่กล้องดักถ่ายที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่ ที่ถ่ายภาพแม่เสือโคร่ง รหัส MKF13 พร้อมด้วยลูกเสือ 2 ตัว ไว้ได้ ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ไม่บ่อย อีกทั้งภาพวัวแดงที่กลับมาตั้งถิ่นฐานอาณาเขตหากินกระจายพันธุ์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หลังจากที่หายไปจากป่าแม่วงก์กว่า 40 ปี เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งเป็นนโยบายสำคัญของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเสนอป่าผืนนี้ให้ผนวกเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติร่วมกับทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ดังคำกล่าวที่ว่า “แม่วงก์ป่าแห่งความหวัง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด