• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ร่วมลงนาม MOU เดินหน้าขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินฯ ของประเทศ

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายอนันต์ ปิ่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลที่ดิน และทรัพยากรดินของประเทศ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กรมป่าไม้ กรมที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมธนารักษ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ทั้งนี้เพื่อร่วมกันสร้างพลังในการขับเคลื่อนภารกิจไปสู่ความสำเร็จอย่างมีเป้าหมายร่วมกันซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุลเป็นธรรม และยั่งยืน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทำให้ประเทศมีการพัฒนาบนรากฐานการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ ภายใต้การดำเนินงานตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศตามที่ คทช. ให้ความเห็นชอบ

“ที่ดิน” และ “ทรัพยากรดิน” ถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของประเทศ เป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินชีวิต การใช้ประโยชน์สำหรับการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่ความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ตามมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและทรัพยากรดินอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ละหน่วยงานต่างถือกฎหมายของตนเองเป็นหลัก การบูรณาการแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมกันในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคอยู่มาก ความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการแก้ไขเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ ส่งผลให้ปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินที่มีอยู่เดิม ถูกสั่งสมเป็นระยะเวลานานและเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง ซับซ้อน และยากต่อการแก้ไขมากขึ้นเรื่อย ๆ


รัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นความสำคัญของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่เกิดจากปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ “คทช.” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและเร่งรัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ผ่านการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของพี่น้องเกษตรกร รวมถึงป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในความครอบครองของนายทุนผู้ที่มิใช่เกษตรกร โดยการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนได้ประสบความสำเร็จและก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายไปแล้ว 1,442 พื้นที่ คิดเป็นเนื้อที่ 5,566,576 – 3 – 31.09 ไร่ ครอบคลุม 70 จังหวัดทั่วประเทศ และสามารถจัดให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่แล้ว จำนวนกว่า 70,000 คน รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และเพื่อให้การดำเนินงานของทุกภาคส่วน มุ่งสู่เอกภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างสมดุลและยั่งยืนในอนาคต

คทช. ได้กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางนโยบายในระยะ 15 ปี ที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ รวมสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ และแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ประกอบด้วย ประเด็นนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่ (1) การสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ (2) การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (3) การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน (4) การบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด