• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหา ช้างป่าพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกับ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการจัดการและแก้ไขปัญหาช้างป่ารบกวนประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จ.ระยอง ช่วงระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา


โดยการจัดการและการแก้ไขปัญหาช้างป่าในปัจจุบัน มีการกำหนดแผนงานและการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการและการแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำร่างแผนการจัดการช้างป่าแห่งชาติ (แผนระยะ 20 ปี) เป็นกรอบในการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่า จัดทำแผนการจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า เป็นแผนระยะ 10 ปี และแผนการจัดการช้างป่าระดับพื้นที่ซึ่งเป็นแผนการจัดการช้างป่าระยะเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทั้งสิ้น 5 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว รวมถึงพื้นที่กลุ่มป่าในภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งสิ้น 7 กลุ่มป่า

สำหรับงานสำคัญที่ดำเนินการได้แก่ การพัฒนาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมปศุสัตว์ ในการเร่งดำเนินงานฟื้นฟูป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐและภาคประชาชน

การพัฒนาพื้นที่แนวกันชน ที่ขณะนี้ช้างป่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งอยู่ประจำและออกมาหากิน เป็นครั้งคราวในช่วงฤดูแล้ง โดยได้ประสานงานกับกรมป่าไม้และกรมทรัพยากรน้ำในการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสำหรับช้างป่า ตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของช้าง สร้างจุดพักช้างในป่าชุมชนเพื่อดึงดูดให้ช้างกลับคืนสู่ป่าใหญ่ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า โดยจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant smart early warning system) เพื่อกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายเจ้าหน้าที่และชุมชนต่างๆ โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการจัดทำหรือสร้างสิ่งกีดขวาง ป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้แก่ รั้ว คูกั้นช้าง รั้วไฟฟ้า เป็นต้น

และการพัฒนาพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เริ่มต้นจากการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชน เรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้าง ทั้งท้องที่ ท้องถิ่นและประชาชน ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนแยกจากแหล่งน้ำช้างป่า ส่งเสริมให้เกิดป่าชุมชนร่วมกับภาครัฐ สร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด