วันที่ 12 ตุลาคม 2564 นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่าตามที่ได้รับแจ้งจากประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ในท้องที่ ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ว่ามีเสือโคร่งออกไปหากินในพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี นอกเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ทางอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่าพบร่องรอยเสือโคร่งออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมตามที่ได้รับแจ้งจริง จึงได้ส่งชุดกำลังจากเขตการจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 5, 3, ส่วนกลาง ในการเฝ้าระวัง ผลักดัน และประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนดูแลปศุสัตว์ของตนให้ดีและกำชับไม่ให้ออกไปนอกเคหะสถานคนเดียวในเวลากลางคืนเนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเสือโคร่งว่ามีการเคลื่อนย้ายไปยังบริเวณใด
ล่าสุด อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้จัดชุดกำลังในการสำรวจ เฝ้าระวัง และผลักดันเสือโคร่ง ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และประชาชนในตำบลจระเข้หิน โดยได้แบ่งออกเป็น 4 ชุด โดยชุดกำลังที่ 1 และ 2 รับผิดชอบพื้นที่บริเวณคลองบง-ช่องเขาขาด แบะชุดกำลังที่ 3 และ 4 รับผิดชอบพื้นที่บริเวณป่าประดู่ – วัดซับปุย – เขาแคบ ผลการปฏิบัติภารกิจ ปรากฏว่า พบรอยตีนเสือโคร่งบริเวณหลังวัดซับปุย และร่องรอยโขลงช้างป่าบริเวณป่าชุมชนหลังวัดซับปุย – เขาแคบ – เขาขาด ซึ่งบริเวณชายป่าส่วนใหญ่ติดกับพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เสือโคร่งที่ออกมาหากินในบริเวณดังกล่าว น่าจะติดตามโขลงช้างป่าที่ออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนซึ่งมีลูกช้างรวมอยู่ในโขลงด้วย ทั้งนี้ จะได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ เพื่อวางแผนในการเร่งการผลักดันเสือโคร่งกลับเข้าสู่ธรรมชาติต่อไป