วันที่ 24 สิงหาคม 2564 นางสาวมัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เปิดเผยว่า สัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาช้างป่าอำเภอท่าตะเกียบ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าติดตามอาการช้างป่าพังยายเกตุ โดย ช้างป่าสามารถกินอาหาร กล้วย ข้าวโพด หญ้า เต่าร้าง อาหารเม็ดสำหรับช้าง ได้ตามปกติทางสัตวแพทย์ได้ให้กินโปรตีนอัลบูมินไข่ขาว วิตามินบำรุงร่างกาย และแคลเซียมใส่ในกล้วยสำหรับพฤติกรรมการก้าวเดินจะช้า ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ปกติในช้างป่าวัยชรา
จากการวัดค่าคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกายของช้างป่ามีค่าอยู่ที่ระดับ 3 คือน้ำหนักมาตรฐาน อาการโดยรวมทั่วไปดีขึ้น สามารถกินอาหารได้มากขึ้น การก้าวเดินปกติอุจจาระเป็นก้อนมากขึ้นและย่อยได้ดีขึ้นตามลำดับและไม่มีอาการหวาดระแวง หรือตกใจต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก ทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตอาการ และรายงานสัตวแพทย์ทุกวันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางการดูแลช้างป่าวัยชรา จะเน้นก้านอาหารและโภชนาการ โดยให้อาหารเม็ดสำหรับช้างป่าผสมกับกล้วย (ปรับมาให้เป็นมื้อเช้า ให้กินอาหารเม็ดได้จำนวนมากๆ ก่อน) เสริมแคลเซียมให้กิน ให้ยาบำรุงปลายประสาทต่อเนื่อง นอกจากนั้นชาวบ้าน อาสา ทหารพราน และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ได้ร่วมกัน Big Cleaning พื้นที่ที่ยายเกตุอาศัยอยู่ ด้วยการทำความสะอาดเก็บเศษอาหาร อุจจาระ และปรับพื้นที่ข้างสระน้ำให้ยายเกตุสามารถลงไปกินน้ำได้อย่างปลอดภัย