วันที่ 22 สิงหาคม 2564 นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) มอบหมายให้ นางสาววีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ประสานงานกับเทศบาลนครนครสวรรค์ ร่วมปฎิบัติงานเชิงรุก จับค้างคาวแม่ไก่ภายในสวนสาธารณะอุทยานสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเก็บตัวอย่างนำส่งไปตรวจหาเชื้อไวรัส และโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่
โดยได้ติดตั้งตาข่ายเพื่อดักจับค้างคาวบริเวณต้นไม้ที่ค้างคาวเกาะนอน เพื่อดักจับค้างคาวแม่ไก่ และเก็บตัวอย่างไว้ โดยเจ้าหน้าที่ทำงานใน 2 ช่วงเวลา คือ เวลา 04.00 – 9.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ค้างคาวบินกลับและเวลา 17.30 – 21.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ค้างคาวบินออกไปหากิน เมื่อจับค้างคาวได้แล้วนายสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำการชั่งน้ำหนัก วัดขนาด เก็บตัวอย่างน้ำลาย เยี่ยว มูล และเลือด พร้อมทำเครื่องหมายด้วยการทาเล็บ จากนั้นปล่อยค้างคาวให้เป็นอิสระเช่นเดิม การดำเนินการในครั้งนี้ สามารถดักจับและเก็บตัวอย่างค้างคาวได้ทั้งสิ้น 12 ตัว โดยจะเอาตัวอย่างที่เก็บได้ นำส่งไปตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา ไวรัสนิปาห์ และไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ต่อไป
สำหรับ สวนสาธารณะอุทยานสวรรค์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หนองสมบุญ “ มีค้างคาวแม่ไก่ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง อาศัยอยู่ประมาณ 400 ตัว โดยอาศัยเกาะนอนบนต้นไม้บริเวณประตูทางเข้าที่ 11 และบริเวณเกาะกลาง ภายในอุทยานสวรรค์ อีกทั้งเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีประชาชนมาใช้ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก หากค้างคาวแม่ไก่นี้ มีเชื้อโรคแฝงอยู่ ผู้ที่มาใช้พื้นที่อุทยานสวรรค์ ก็จะมีโอกาสได้รับเชื้อที่ปะปนมากับน้ำลาย เยี่ยว หรือมูลของค้างคาวได้ และเป็นการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ตามนโยบายของ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด้วย