วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบหมูป่า จำนวน 1 ตัว นอนตายอยู่บริเวณศาลาหกเหลี่ยม ใกล้กับบ้านพักเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ใกล้กันพบหมูป่าตายเพิ่มอีก 2 ตัว ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงได้ประสานสัตวแพทย์พิสูจน์หาสาเหตุการตาย
โดย นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒ สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เข้าตรวจสอบและผ่าซากหมูป่าที่ตายทั้ง 3 ตัวดังกล่าว พบว่า ซากหมูป่า ที่พบเป็นเพศเมีย โตเต็มวัย จำนวน 1 ซาก เพศผู้โตเต็มวัย จำนวน 1 ซาก และเพศเมีย วัยเด็ก จำนวน 1 ซาก สภาพซากภายนอกไม่พบบาดแผล จากการต่อสู้กัน หรือถูกทำร้ายด้วยอาวุธ ผลผ่าพิสูจน์ทั้ง 3 ซาก พบจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และอวัยวะภายใน บริเวณหัวใจ ปอด ผนังลำไส้ ผนังกระเพาะอาหาร ไต ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายบวมและมีเลือดออก ทีมสัตวแพทย์จึงได้เก็บเลือด และชิ้นเนื้อของอวัยวะที่มีรอยโรค เพื่อส่งตรวจหาเชื้อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก สำหรับซากเจ้าหน้าที่ได้ทำลายซากทั้ง 3 ซาก ตามหลักทางวิชาการด้วยวิธีการฝังกลบและโรยปูนขาว
สำหรับสาเหตุการตายคาดว่าเกิดจากการติดเชื้อซึ่งรอยืนยันผลวิเคราะห์หาเชื้อทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง โดยสัตวแพทย์ ได้แนะนำวิธีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โดยให้จัดทำบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อใช้ฆ่าเชื้อที่อาจติดมาจากล้อรถและรองเท้า รวมถึงหากพบว่ามีหมูป่าเพิ่มตายอีก ให้ฝังซาก พร้อมโรยปูนขาวในหลุม และให้ราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคบนผิวดินด้วย
ทั้งนี้ นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน และมีเส้นทางเชื่อมต่อกับชุมชน ให้จัดทำบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อบนเส้นทางบริเวณใกล้เคียงหน่วยพิทักษ์ป่าดังกล่าวแล้ว รวมทั้งได้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ลาดตระเวนหา หากพบซากหมูป่าให้รีบแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการป้องกันการแพร่กระจายของโรคโดยทันที