วันที่ 18 มีนาคม 2568 เวลา 14.00 น. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือและ 14 กลุ่มป่า ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) แอปพลิเคชั่น Zoom ณ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ออส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่า และหมอกควัน ในพื้นที่ 14 กลุ่มป่า นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า (ผอ.สปฟ.) นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) นายนครินทร์ สุทัตโต ผู้อำนวยการส่วนควบคุมไฟป่า (ผอ.สคฟ.) รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนกองทัพภาค 3 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการป้องกันไฟป่าและฝุ่นละออง PM2.5 จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และฝ่ายปกครองระดับจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีข้อมูลการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบต่างๆ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น
ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทั้ง 14 กลุ่มป่าได้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยแต่ละสำนักได้นำเสนอแผนการปฏิบัติงานและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ นายปรยุษณ์ ไวว่อง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) ได้นำเสนอแผนงานและผลการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดตากเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง มีการรายงานข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ (อส.) กรมป่าไม้ (ปม.) และตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงมาตรการที่ได้ดำเนินการและความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ในที่ประชุม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบนโยบายและข้อสั่งการที่สำคัญดังนี้
1. ประกาศช่วงเวลาวิกฤต 60 วัน ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและรับมือการจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างเข้มข้นในช่วงเวลาเสี่ยงต่อการเกิดไฟ 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตที่มักเกิดไฟป่าและหมอกควันรุนแรงในภาคเหนือ
2. มาตรการเชิงรุก กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหา ยกระดับความเข้มข้นและการจัดการพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประวัติเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ซ้ำซาก
3. มาตรการพิเศษสำหรับพื้นที่วิกฤต เน้นย้ำให้หน่วยงานที่มีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา หามาตรการป้องกันเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น
4. การสร้างความเข้าใจกับชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตาก ให้เร่งชี้แจงชาวบ้านและชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบของไฟป่าและการเผาในที่โล่ง เพื่อลดการเกิดไฟป่าจากกิจกรรมของมนุษย์
5. การบูรณาการความร่วมมือ ให้ทุกหน่วยงานทั้งระดับกระทรวง กรม และหน่วยงานในพื้นที่ ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับที่ร่วมแรงร่วมใจในการแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้งนี้ พร้อมเน้นย้ำว่าการแก้ไขปัญหาไฟป่าและมลพิษทางอากาศเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย