• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ร่วมกับ ป.ป.ช.ลงพื้นที่ติดตามการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานหาดเจ้าไหม พัฒนาการจัดเก็บเงินให้รวดเร็วโปร่งใส เร่งพัฒนาสัญญาณใช้ E-Ticket ได้ทุกอุทยานฯทั่วประเทศ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่เพื่อติดตามการจัดเก็บรายได้ของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม บริเวณเกาะกระดาน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ร่วมกับนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีนายอริยะ เชื้อชม ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นายเทอดไทย ขวัญทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นายปทุม พงศกรเฟื่องฟู หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล

นายปทุม พงศกรเฟื่องฟู หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้นำเสนอข้อมูลกับคณะฯถึงการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานหาดเจ้าไหม ว่า จะมีจุดจัดเก็บอยู่ 5 จุด คือ ที่สำนักงานท่าเรือปากเมง เกาะกระดาน หน้าถ้ำมรกต และหาดหยงหลิง ส่วนเกาะกระดานเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาจะมาเทียบเรือที่โป๊ะ และนักท่องเที่ยวจะเดินมาชำระค่าธรรมเนียมตรงบริเวณทางขึ้นอุทยาน คนไทยผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ส่วนชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท ทั้งนี้สามารถชำระที่สำนักงานและท่าเรือปากเมง และแสดงบัตรค่าธรรมเนียมได้ที่เกาะกระดาน ซึ่งจะไม่เกิดการจัดเก็บซ้ำซ้อน ส่วนกรณีถ้ำมรกตที่มีเจ้าหน้าที่ล่องเรือจัดเก็บนั้น จะได้รับแจ้งค่าธรรมเนียมจากบริษัททัวร์ก่อนแล้ว จากนั้นจะออกไปรอและนับจำนวนนักท่องเที่ยว ว่าตรงกับจำนวนที่บริษัทจ่ายมาหรือไม่ อุปสรรคก็มีบ้าง หากเรือมาจำนวนมากอาจล่าช้า กรณีเรือจากรีสอร์ทหากไม่เข้าจุดบริการเจ้าหน้าที่จะติดตามการชำระที่รีสอร์ทนั้น ๆ จากนั้นจะมีการนำเงินมารวมกับจุดจัดเก็บบนพื้นที่เกาะกระดาน ก่อนนำส่งรายได้ที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เพื่อนำเงินจัดส่งตามระเบียบ ทั้งนี้ในส่วนของระบบ E-ticket อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมยังไม่ได้ดำเนินการ ส่วนจะใช้ระบบสแกนหรือโอนเข้าบัญชีตามที่ สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอแนะนั้น ในส่วนนี้กรมอุทยานฯ จะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบต่อไป

ด้านนายชิดชนก กล่าวว่า การลงพื้นที่ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ถือเป็นความร่วมมือในการหาแนวทางป้องกันการทุจริตการจัดเก็บรายได้อุทยานฯ เนื่องจากปัจจุบันมีการจัดเก็บเป็นเงินสดเท่านั้น ซึ่งกรมอุทยานฯได้กำหนดระเบียบแนวทางในการจัดเก็บให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาการร้องเรียนเรื่องการจัดเก็บรายได้ แต่ก็อาจจะมีจุดที่ ป.ป.ช.มีข้อกังวลใจ เนื่องจากการจัดเก็บเงินสดของอุทยานฯที่ห่างไกลอาจจะมีข้อจำกัดในการนำส่งธนาคารในทันที ในส่วนนี้ที่ผ่านมากรมอุทยานฯก็หาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อให้มีความคล่องตัวและนำส่งได้รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น แต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่ ส่วนข้อแนะนำของ ป.ป.ช.ในเรื่องการจัดเก็บรายได้แบบโอนเงินโดยไม่ต้องขนส่งเงินสดนั้นจะต้องนำไปหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบต่อไป

ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาใช้ระบบ E-Ticket กรมอุทยานฯ มีการนำร่องใช้ในอุทยานแห่งชาติ 6 แห่ง ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งพบปัญหาว่าในพื้นที่ห่างไกล เช่น พื้นที่เกาะที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ทำให้ระบบไม่เสถียรใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพทำให้ไม่สะดวกกับนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ ซึ่งทางกรมอุทยานฯได้จัดหางบประมาณในปี 2567 เพื่อเร่งพัฒนาเครือข่ายการเชื่อมต่อสัญญาณ คาดว่าในปี 2569 ระบบดังกล่าวจะแล้วเสร็จ และนำมาใช้ในอุทยานแห่งชาติฯทั่วประเทศต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด