• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม – หมู่เกาะทะเลใต้ และอุทยานหมู่เกาะอ่างทอง ดูการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มอบหมายให้นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต ผู้อำนวยการส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ นำสื่อมวลชนลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม -หมู่เกาะทะเลใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามทำข่าวการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล การจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว ฯลฯ เป็นต้น ระหว่างวันที่ 8 – 10 กรกฎาคม 2567
วันที่ 8 ก.ค.67 นายอดิศักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนประชาสัมพันธ์ฯ ได้นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม – หมู่เกาะทะเลใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเตรียมการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2533 ประกอบด้วยพื้นที่ทางบกและทางทะเล และได้กันพื้นที่ที่ทำกินของราษฎรออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ คงเหลือเพียงพื้นที่ป่าสมบูรณ์เท่านั้น ระบบนิเวศ เป็นแหล่งป่าต้นน้ำที่สำคัญของอำเภอขนอม อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญสัตว์ป่า ในขณะที่พื้นที่ทางทะเลเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของโลมาสีชมพู เต่าตนุ ส่วนเกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะท่าไร่ เกาะนุ้ย มีจุดชมวิวพลายจำเริญ น้ำตกกลางทอง และหินพับผ้า ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยาที่มีลักษณะเป็นแผ่นหินที่ทับซ้อนเรียงกันเป็นชั้นๆ สูงขึ้นไป เกิดเป็นผาเขาที่มีลักษณะคล้ายผ้าที่พับซ้อนทับกันไว้เป็นชั้นๆ และมีจุดสักการะหลวงปู่ทวดบริเวณเกาะนุ้ย
อุทยานแห่งชาติหาดขนอม – หมู่เกาะทะเลใต้ เมื่อเริ่มเตรียมการประกาศในปี 2533 ครอบคลุมพื้นที่ 197,614 ไร่ ผ่านมา 34 ปี ได้กันออกพื้นที่ทับซ้อนกับหน่วยงานต่างๆ และได้กันออกพื้นที่ทำกินของราษฎรออกทั้งหมดแล้ว เหลือพื้นที่เตรียมการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพียง 108,570 ไร่ เป็นพื้นที่ทางบก 51,390 ไร่ และทางทะเล 57,180 ไร่ การประกาศจัดตั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม – หมู่เกาะทะเลใต้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการชี้แจง ทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป
ขณะที่ วันที่ 9 ก.ค. 67 นายอดิศักดิ์ ผอ.ส่วนประชาสัมพันธ์ฯ ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่อช.หมู่เกาะอ่างทอง เพื่อติดตามทำข่าวการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล การจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว ฯลฯ สำหรับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง โดยอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ทำการสำรวจสถานภาพปะการังบริเวณอช.หมู่เกาะอ่างทอง จำนวน 13 สถานี โดยทำการเก็บข้อมูล พบว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลอุณหภูมิผิวนํ้าทะเลที่วัดโดย NationalOceanic and Atmospheric Administration (NOAA) Coral Reef Watch ในปี พ.ศ. 2566 พบว่าอุณหภูมิผิวนํ้าทะเล มีการแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในเดือนเมษายน (29.19 – 31.62 °C) อุณหภูมิผิวนํ้าทะเลสูงขึ้นอีก จนอยู่ในเกณฑ์เตือนสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในเดือนพฤษภาคม (29.52 – 32.36°C) ประมาณสามเดือนที่ปะการังต้องอยู่ภายใต้สภาวะเครียด ทําให้เกิดปะการังฟอกขาวเป็นวงกว้างในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง แม้ว่าการใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการ เช่น กิจกรรมดำน้ำตื้น (Snorkeling) และดํานํ้าลึก (Scuba diving) ในแนวปะการังบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองนั้นน้อย เนื่องจากเป็นแนวปะการังที่อยู่ในบริเวณที่มีนํ้าขุ่นค่อนข้างมาก
ด้านการบริหารจัดการในพื้นที่อช.หมู่เกาะอ่างทอง มีพื้นที่ส่วนใหญ่ ประกอบด้วยพื้นที่น้ำประมาณ 84 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่ดินที่เป็นเกาะ 18 ตารางกิโลเมตร มีเกาะใหญ่น้อยต่างๆ รวมจำนวน 42 เกาะ เกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะพะลวย เกาะวัวตาหลับ เกาะแม่เกาะ เป็นต้น อีกทั้งยังแหล่งที่พบวาฬบรูด้า สัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อช.หมู่เกาะอ่างทอง มีการบริหารจัดการอย่างดี ได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยวจำนวนมาก อีกทั้งยังมีมาตรการดูแลนักท่องเที่ยว เช่น การฝึกอบรมกู้ชีพกู้ภัย การซ้อมช่วยเหลือนักท่องเที่ยวหากเกิดเหตุร้าย การป้องกันแมงกะพรุนโปรตุเกสโดยใช้ตาข่ายดักแมงกะพรุนที่จุดเล่นน้ำของนักท่องเที่ยว การปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว ซ่อมแซมบ้านพักนักท่องเที่ยว และเก็บขยะบริเวณชายหาดเป็นประจำทุกวัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด