• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ร่วมมูลนิธิพิทักษ์ อช.เขาใหญ่ จับมือทุกภาคส่วน พัฒนาแนวเชื่อมต่อผืนป่าเขาใหญ่-ทับลาน อบรมสร้างจิตสำนึกแก่นักเรียนเยาวชน

วันที่ 17 มกราคม 2567 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นประธานการประชุม “แนวทางการพัฒนาทางเชื่อมต่อผืนป่า Wildlife Coridor” และเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเยาวชนจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Next Gen New World เพื่อสร้างนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดี มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นแนวร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายรณณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองอำเภอนาดี นักเรียนเยาวชน ผู้แทนภาคธุรกิจ ตลอดจนราษฎรในชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 500 คน โดยได้ร่วมปลูกต้นลาน ต้นพะยูง รวมถึงการชมนิทรรศการการแสดงผลงานของนักเรียนและประชาชนจากผลิตภัณฑ์ต้นลาน ณ อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี

ในการนี้ ประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้มอบสิ่งของสนับสนุนอุทยานฯ กล้อง NCAPS ชุดปฏิบัติงานของผู้พิทักษ์ป่า และอุปกรณ์กีฬาแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 11 โรงเรียน อีกทั้งได้มอบถุงยังชีพแก่ผู้ยากไร้ จำนวน 30 ชุด จากนั้นได้ร่วมทำกิจกรรมสร้างกระทะน้ำเพื่อสัตว์ป่า โป่งเทียม ปลูกไม้ป่าเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ติดตั้งกล้อง NCAPS ติดตามสัตว์ป่า และเฝ้าระวังการบุกรุกฟื้นที่บริเวณแนวเชื่อมต่อผืนป่า (Corridor) ช่วงสะพานยกระดับ กิโลเมตรที่ 41-45 ตลอดจนการร่วมกันตรวจสอบร่องรอยของสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์บริเวณ Corridor

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการศึกษาของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พบว่าสัตว์ป่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้มีการเคลื่อนตัวเข้าใกล้แนวเชื่อมต่อผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ บริเวณอุโมงค์เชื่อมต่อผืนป่า บนทางหลวงหมายเลข 304 ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี จากการรับฟังข้อมูลการดำเนินงานในการพัฒนาพื้นที่บริเวณทางเชื่อมต่อผืนป่า เพื่อให้สัตว์ป่าสามารถใช้ประโยชน์เป็นแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนชนิดและสายพันธุ์ของสัตว์ป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งสองแห่ง ปัจจุบันมีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 22 ชนิด ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว โดยความคาดหวังสูงสุดของโครงการคือการทำให้เสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร เข้ามาใช้ประโยชน์และหากินในพื้นที่ระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อความยั่งยืนของพื้นป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ต่อไปในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด