• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ จับมือมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมเตรียมสร้างคอกอนุบาลช้างเกเร (พลายไข่นุ้ย) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวภายหลังการลงพื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา ต.ท้ายช้าง อ.เมือง จ.พังงา เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอาคารโรงช้าง เพื่ออนุบาลช้างป่า “พลายเจ้างา” ว่า หลังจาก “พลายไข่นุ้ย” หรือ “พลายเจ้างา” ถูกขึ้นบัญชีช้างพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องติดตามของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หลังจากช้างเชือกนี้ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุม เพื่อยุติพฤติกรรมสร้างความเสียหายให้พืชผลอาสิน และทรัพย์สินของชาวบ้านใน อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งชาวบ้าน ได้เข้าชื่อร้องต่อศาลปกครอง จนนำไปสู่การกำหนดมาตรการบังคับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับและเคลื่อนย้ายตัว มายังหน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย ต.นาเหรง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 11 – 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
เนื่องจากคณะเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ มีความเห็นร่วมกันว่า “พลายเจ้างา” ต้องอยู่พักเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายมายังหน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมที่จะดูแลรักษาอาการบาดเจ็บของช้างป่า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสัตวแพทย์ และสัตวบาล ดูแลจนกว่าจะมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น จากนั้นจะเคลื่อนย้ายไปกักตัวที่คอกอนุบาลช้างป่า ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา อ.เมืองพังงา จ.พังงา ที่มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างตามแบบมาตรฐานของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลช้างป่า แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนจึงอาจทำให้การก่อสร้างล่าช้า
สำหรับ “โครงการก่อสร้างคอกอนุบาลช้างป่า ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จังหวัดพังงา”นั้น กรมอุทยานฯ ได้ ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการและการดูแลสัตว์ป่า ที่ร่วมลงนามเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 เพื่อร่วมมือทางวิชาการ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรช้างป่า การดูแลช้างป่าที่บาดเจ็บ การจัดหาสถานที่ดูแล รักษา และพักฟื้นช้างป่าให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ หรือปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงการพิจารณาแก้ไขปัญหาช้างป่ารบกวนประชาชน อีกทั้งเพื่อเป็นการขานรับนโยบาย จาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธาน คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ที่ให้กรมอุทยานฯ เร่งรัดแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์
โดยแผนการดูแลพลายเจ้างา จะแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรก จะดูแลพลายเจ้างา ณ หน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช โดยจ้างควาญช้างดูแล เป็นระยะเวลา 6 เดือน ระยะกลาง จะเคลื่อนย้ายช้างไปกักตัวยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างและระยะยาวจะเคลื่อนย้ายช้างไปไว้ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ในพื้นที่กลุ่มป่าคลองแสง – เขาสก ตามกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวของคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง
ทั้งนี้ “พลายเจ้างา” เป็นช้างป่าเพศผู้ อายุประมาณ 8 – 10 ปี สูง 2.0 – 2.3 เมตร น้ำหนักประมาณ 2.0 – 2.5 ตัน ซึ่งมีพฤติกรรมสร้างความเสียหายให้ประชาชนปัจจุบันถูกคุมตัว และจำกัดพื้นที่อยู่ในบริเวณชายป่า หลังที่ทำการหน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย โดยกันพื้นที่เฉพาะเป็นเขตหวงห้าม มีสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่เข้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีชุดเจ้าหน้าที่นอนเฝ้า ชุดเจ้าหน้าที่หาอาหารมาให้ และเปิดให้ชาวบ้านนำอาหารช้างเข้ามาบริจาค โดยเน้นพืชอาหารที่มีในป่า เช่น กล้วยป่า เพื่อปรับนิสัยการกินของพลายไข่นุ้ย ไม่เลือกเอาผลไม้ เช่น ทุเรียน หรือกล้วยทั่วไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด