วันนี้ (4 ตุลาคม 2566) เวลา 13.30 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ นางสาวแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการและการดูแลสุขภาพสัตว์ป่า ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้ร่วมมือ ด้านการจัดการและการดูแลสุขภาพสัตว์ป่า ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับการดูแลรักษาช้างป่า ที่ได้รับบาดเจ็บ จัดหาสถานที่ดูแลรักษา และพักฟื้นสุขภาพช้างป่าเพื่อเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ได้พยายามดำเนินการในทุกวิธีเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาคุณภาพถิ่นที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร สำรวจและจัดทำฐานข้อมูล การพัฒนาและแก้ไขกฎหมาย การจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า แก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ นอกจากนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า อย่างไรก็ตามยังคงมีช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ เช่น กรณีที่ศาลปกครองนครศรีธรรมราช มีคำให้สั่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ดำเนินการจับและเคลื่อนย้ายนำช้างป่า “พลายเจ้างา” ไปไว้ในที่เหมาะสม เนื่องจากช้างป่าดังกล่าวออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติไปหากินในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านในเขต ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องดำเนินการอย่างรอบคอบภายในระยะเวลาที่จำกัด ดังนั้นการร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ที่มีความรู้และพร้อมให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างทันท่วงที เป็นแนวทางที่กรมอุทยานแห่งชาติฯให้ความสำคัญ
นางสาวแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม พร้อมให้ความช่วยเหลือในการสร้างกรงคอกชั่วคราว ณ พื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จังหวัดพังงา ในการดูแลฟื้นฟูสุขภาพช้างป่าพลายเจ้างา ระหว่างรอดำเนินการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หรือหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการดูแลจัดการช้างในกรงเลี้ยง ตลอดจนการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ ผู้ที่มีความชำนาญในการดูแลช้าง ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน จึงเป็นที่มาของการทำความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้การดูแลรักษาช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ จัดหาสถานที่ดูแลรักษาและพักฟื้นสุขภาพช้างป่าเพื่อเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงการร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาช้างป่ารบกวนประชาชน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ผลงานทางวิชาการ บุคลากร และอื่น ๆ ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการเฝ้าระวัง ป้องกัน และรับมือกับความเสี่ยงด้านสุขภาพของช้างป่าทั้งในและนอกถิ่นอาศัย ตลอดจนการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรบกวนของช้างป่า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ และการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย ให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป