วันที่ 19 มีนาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า นายวิชานนท์ แสนผาลา หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รายงานว่า ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ถึง 18 มีนาคม 2566 ภายใต้การอำนวยการของนายอรรถพล เจริญชันษา รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย ของประเทศไทย กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) หน่วยเฉพาะกิจ ปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ) ส่วนยุทธการด้านการป้องกันและปราบปราม สำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ ได้ร่วมกันสืบสวนขบวนการทำไม้กฤษณาข้ามชาติตามที่มีผู้ประสงค์ดีแจ้งเบาะแสมา ว่ามีชาวเวียดนามเข้ามาทำไม้กฤษณา (ไม้หอม) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทยหลายพื้นที่ เป็นการทำลายความมั่นคงทางระบบนิเวศ และเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ลาดตระเวนอยู่ในผืนป่า
จากการวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน เป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน จนกระทั่งวันที่ 18 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ 21.30 น. คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ทำตรวจยึด-จับกุม กลุ่มขบวนการชาวเวียดนาม จำนวน 6 คน ประกอบด้วย 1. Dang Hiep 2. Tran Cao Cuong 3. Nguyen Van Binh 4. Hoang Van Ba 5. Hoang Van An 6. Hoang Xuan Van และ รถยนต์จำนวน 2 คัน หมายเลขทะเบียน กพ 7037 เชียงใหม่ และทะเบียน ลต 9349 กรุงเทพมหานคร พร้อมชิ้นไม้กฤษณาจำนวน 173 กิโลกรัม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำผิด ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันเก็บหาไม้กฤษณาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
เป็นความผิดตามข้อหา
1.ฐานร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 53 และมาตรา 96 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 2. ฐานร่วมกันทำด้วยประการใดให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติเดิน ตามมาตรา 55 (2) และมาตรา 99 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 3. ฐานร่วมกันกับพวก เก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใด ๆ ที่เป็นอันตราย หรือ ทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ตามมาตรา 55 (5) และมาตรา 100 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 4. ฐานร่วมกันกับพวกเก็บหาของป่าหวงห้าม หรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่ของป่าหวงห้ามในป่า โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 29 และมาตรา 71 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484
5. ฐานร่วมกันกับพวกค้าของป่าหวงห้ามหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 29 ทวิ และมาตรา 71 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 6. ฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า ตามมาตรา 54 และมาตรา 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 7. ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 14 และมาตรา 31 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 8. ผู้ใดกระทำหรือละเว้นกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลาย หรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น ตามมาตรา 26/4 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกจับกุมและนำตัวผู้กระะทำผิดและของกลางกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ทั้งนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการสืบสวนหาข้อมูลกลุ่มขบวนการดังกล่าวมาโดยตลอด จนกระทั่งสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดและตรวจยึดของกลางได้ดังกล่าว