• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจง 4 ข้อร้องเรียนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงกรณีเรื่องร้องเรียนของกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าเขาใหญ่ดงพญาเย็น เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่า ได้รับข้อชี้แจงจากนายวีระ ขุนไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) 4 ประเด็น ดังนี้


ประเด็นที่ 1. ขอให้ตรวจสอบบุคคลภายนอกที่ไม่ใด้รับอนุญาตเข้าพื้นที่อนุรักษ์ (หน่วยเขาแหลม) ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม ได้มีการนำรถแทรกเตอร์เข้าพื้นที่เพื่อรับจ้างเหมาตัดหญ้า โดยผิดหลักวิชาการ และปัจจุบัน ยังมีบุคคลภายนอกได้นำรถแทรกเตอร์เข้าไปปรับไถพื้นที่ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และทรัพยากรธรรมชาติที่ง่ายต่อการถูกทำลาย ซึ่งการเข้าและปรับปรุงพื้นที่ อาจสามารถทำได้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติ อีกทั้งควรมีมาตรการควบคุม และจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางเครือข่ายจึงขอให้ระงับบุคคลภายนอกเข้าพื้นที่ และเรียกเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมหนังสืออนุญาตให้เข้าพื้นที่จากหัวหน้าอุทยานฯมาชี้แจงในประเด็นต่างๆ อนึ่ง ผู้รับเหมางานในครั้งนี้ มีความสัมพันธ์โดยเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานเขาใหญ่ หรือ PAC อยู่แล้ว ได้ตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อรับเหมางาน ซึ่งอาจไม่โปร่งใสได้ นั้น

ประเด็นนี้ นายวีระ ขุนไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ชี้แจงว่า “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้จัดทำโครงการจ้างปรับปรุงทุ่งหญ้าเพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ งบประมาณ 3,127,000 บาท ประกอบด้วยกิจกรรมการปรับปรุงทุ่งหญ้าจำนวน 2,488 ไร่ จำนวน 2,910,960 บาท และจ้างเหมาจัดทำโป่งเทียม จำนวน 27 โป่ง งบประมาณ 216,000 บาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบโครงการจากคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ดำเนินการของงบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 (จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อมาสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ได้ดำเนินการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e – bidding) โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ลี้ ยู่ คี้ เป็นผู้ชนะการประมูลงานได้ตามสัญญาจ้างเลขที่ 10/2565 ลงวันที่ 29 กันยายน 2564 ซึ่งตกลงจ้างปรับปรุงทุ่งหญ้าเพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่าบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จำนวน 2,488 ไร่ จำนวนเงินตามสัญญา 2,794,521.00 บาท กำหนดจ่าย 2 งวด โดยเริ่มทำงานภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 และกำหนดงานแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2565 โดยการปฏิบัติงานในพื้นที่ 6 แหล่ง คือ ทุ่งหญ้าบริเวณคลองอีเฒ่า ค่ายสุรัสวดี ทุ่งกวาง อ่างเก็บน้ำสายศร เขาเขียว และเขาแหลม” นายวีระกล่าวเพิ่มเติม

สำหรับวัตถุประสงค์การปรับปรุงทุ่งหญ้าเพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่าบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น เพื่อป้องกันการทดแทน (Succession) จากพืชที่มีเนื้อไม้ และพืชต่างถิ่น เช่น ต้นติ้ว ต้นสาบเสือ และเปิดโอกาสให้พืชจำพวกหญ้าในพื้นถิ่นเดิมได้ออกดอกและผลผลิตเมล็ดเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ทุ่งหญ้าและสัตว์ป่า สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ตลอดจนนักท่องเที่ยวสามารถได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการได้พบเห็นสัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์โดยตรงจากพื้นที่ทุ่งหญ้า นอกจากนี้ เพื่อช่วยคงสภาพทุ่งหญ้าให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพตามรูปแบบการจัดการทุ่งหญ้า เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่า และเพื่อดึงดูดสัตว์ป่าให้เข้ามาใช้ประโยชน์และเป็นการป้องกันสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ สร้างความเสียหายแก่ราษฎรรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ป่า เป็นสร้างแหล่งหากินและอยู่อาศัยของสัตว์ป่า

ประเด็นที่ 2. มีการใช้เงินบริจาคศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ไปใช้โดยผิดวัตถุประสงค์ ในการเปิดตู้บริจาคแต่ละครั้งไม่มีภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการตรวจนับ เพื่อความโปร่งใสในการใช้เงินบริจาคศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ไปใช้ตามระเบียบและวัตถุประสงค์ ขอให้มีภาคประชาชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเช้าร่วมเป็นกรรมการการจัดการเงินของศาลเจ้าพ่อ
ประเด็นนี้นายวีระ ชี้แจงว่า ระเบียบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินกองทุนศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ พ.ศ.2555 มีวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ที่ชัดเจน เช่น
1. เพื่อบำรุงรักษาอาคาร สถานที่ และสาธารณูปโภครอบๆ ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่
2. เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการป้องกันรักษาป่า และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
3. เพื่อเป็นค่าดอกไม้ ธูป เทียน จัดพิมพ์ใบเซียมซี และจัดจ้างบุคลากร รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในการบูชา เจ้าพ่อเขาใหญ่
4. เพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนา
5. เพื่อช่วยเหลืองานสาธารณกุศลต่างๆ

ทั้งนี้ ในการเปิดตู้ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ทุกครั้ง จะมีการแจ้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งประสานไปยังธนาคารออมสิน เพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมตรวจสอบด้วยทุกครั้ง และมีการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารออมสินซึ่งสามารถตรวจสอบได้การใช้จ่ายเงินกองทุนศาลเจ้าพ่อทุกครั้ง ต้องมีการเสนอโครงการและรับความเห็นชอบกับคณะกรรมการ เช่น โครงการฝึกอบรมหลักสูตรเสริมสร้างประสิทธิภาพการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) สำหรับเจ้าที่อุทยานชาติเขาใหญ่ โครงการจัดซื้ออุปกรณ์ สำหรับการดำรงชีพในป่าเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานลาดตระเวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น


ประเด็นที่ 3. มีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล (ล็อตเตอรี่) เกินราคาที่กฎหมายกำหนดในเขตอุทยานฯ (บริเวณศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่) ซึ่งผิดกฎหมายอย่างชัดเจน และได้มีการแจ้งไปยังหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ด้วย นั้น
ประเด็นนี้ นายวีระ กล่าวว่า “กรณีการเข้ามาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล (ล็อตเตอรี่) ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้มีการดำเนินการตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยได้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราว ซึ่งไม่ได้ระบุเจาะจงเป็นบุคคลใดบุคคนหนึ่ง ในส่วนของการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล (ล็อตเตอรี่) เกินราคา ถือเป็นข้อที่ตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หากพบการจำหน่ายเกินราคาสามารถแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายได้”

ประเด็นที่ 4. ขอให้ยกเลิกคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยาน หรือ PAC เนื่องจากมีหนึ่งในคณะกรรมการเข้าไปหาผลประโยชน์กับอุทยาน ควรเปิดให้มีการคัดเลือกบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อให้การบริหารงานในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นไปอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายอุทยานอย่างเคร่งครัด (โดยให้มีวาระในตำแหน่งไม่เกิน 2 ปี)

ประเด็นที่ 4 นายวีระ ระบุว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำหนดให้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศจัดตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่ (PAC) เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่คุ้มครอง ตามแนวทางให้พื้นที่คุ้มครอง จัดตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่ไม่น้อยกว่า 15 คน แต่ไม่เกิน 25 คน ซึ่งมีวาระการปฏิบัติงานจำนวน 2 ปี โดยเป็นอำนาจอธิบดีในการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ
สำหรับคุณสมบัติของการจัดตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่ (PAC) ประกอบด้วย
– ผู้แทนฝ่ายปกครองส่วนภูมิภาค เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ
– ผู้แทนฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ฯลฯ
– ผู้แทนหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานทหาร หน่วยงานเกษตร ครู หน่วยงานที่ดิน หน่วยงานพัฒนากร หน่วยงานการท่องเที่ยว หน่วยงานตำรวจ หน่วยงานประมง ฯลฯ

– ผู้แทนชุมชนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรือองค์กรชุมชน เช่น กลุ่มแม่บ้าน สหกรณ์ ฯลฯ
– ผู้แทนหน่วยงานอื่น ๆ ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่า สถานีวิจัยต้นน้ำ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันรักษาป่า อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าข้างเคียง ฯลฯ
– พนักงานเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นั้นๆ
– ผู้นำที่ไม่เป็นทางการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ผู้นำทางศาสนา ผู้แทนสถาบันการศึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ปราชญ์ชาวบ้วน ฯลฯ
– ผู้แทนสื่อมวลชนในท้องถิ่น
– ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOS)


นายวีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ (PAC) ตามคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 4459/2564 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (โดยให้มีวาระในตำแหน่ง 2 ปี ซึ่งหมดวาระตามคำสั่ง วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566) โดยเป็นตัวแทนจากพื้นที่รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้แก่ จังหวัดนครนายก จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระบุรี และผู้แทนที่ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในด้านการป้องกันปราบปราม ด้านการศึกษาวิจัย และด้านนันทนาการและการท่องเที่ยว โดยก่อนที่จะมีการจัดตั้งทุกครั้ง จะมีการเสนอรายชื่อและมีมติเห็นชอบต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ชุดเดิม ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐจำนวน 9 ท่าน สมาคมการท่องเที่ยว จำนวน 4 ท่าน ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ จำนวน 4 ท่าน กลุ่มสื่อมวลชนจำนวน 2 ท่าน และมูลนิธิ/ชมรม/กลุ่มด้านการอนุรักษ์ จำนวน 6 ท่าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด