นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายอร่าม ทัพหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) และ คณะตัวแทนผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติจากศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย Ms.รัศมี ศิระวงศ์,Mr.โรเบิร์ต มาสเตอร์ ,นายทวี หนูทอง และสมาชิกประเทศกลุ่มอาเซียน ร่วมเดินทางลงพื้นที่ ระหว่างวันที่ 23 – 25 มกราคม 2566 เพื่อประชุมการนำเสนอพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน ณ หอประชุมสุรพลพลับพลึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
การประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 เห็นชอบให้ประเทศไทย โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำเสนอพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน คณะกรรมการฯ จากศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จึงลงพื้นที่ตรวจสอบประเมินเพื่อดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน ด้วยคุณสมบัติของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) มีศักยภาพความสมบูรณ์ของผืนป่าต้นน้ำต้นกำเนิดแม่น้ำชี และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งด้านสัตว์ป่า และพรรณพืช ที่นานาประเทศทั่วโลกให้การยอมรับ และให้ความสำคัญที่จะต้องช่วยกันรักษาและอนุรักษ์สืบไป โดยพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนจะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติในระดับนานาชาติที่สำคัญของอาเซียนระดับภูมิภาค ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น นอกจากนี้พื้นที่ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) ยังเป็นแหล่งช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดชัยภูมิ โดยมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ต้นน้ำ สัตว์ป่า พันธุ์พืช และมีจุดรองรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งในการจัดการบริหารพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวภายในสถานีเพาะเลี้ยง หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ จะช่วยให้เกิดการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในจังหวัดชัยภูมิได้อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ จากการเดินทางสำรวจประเมินพื้นที่พบว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง) มีความพร้อมสามารถดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนได้ โดยจะเสร็จสิ้นในปี 2566 นี้ และจะมีการประกาศการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการต่อไป