• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับราชภัฏอุดรฯ พบพืชชนิดใหม่ของโลก ‘ม่วงราชสิริน’ นามพระราชทาน และซ่อนแก้ว

วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นักพฤกษศาสตร์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นางสาวอนุสรา แก้วเหมือน และนายสมราน สุดดี หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ได้ร่วมกับ ผศ. ดร.สไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ถั่ว (Fabaceae) ของไทย ได้ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลก “ม่วงราชสิริน” โดยการสนับสนุนการสำรวจในภาคสนามจากสำนักสนองงานพระราชดำริ กรมอุทยานฯ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

ม่วงราชสิริน

พืชชนิดใหม่นี้ถูกค้นพบโดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ ระหว่างทำการสำรวจความหลากหลายของพรรณพืชบริเวณพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ในเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งได้พบไม้เถาเนื้อแข็งไม่ทราบชนิด ซึ่งมีเฉพาะผล จึงได้ติดตามเก็บตัวอย่างและได้ตัวอย่างดอกในเดือนเมษายน 2564 ได้ทำการตรวจสอบตัวอย่าง พบเพิ่มเติมบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากการศึกษาอย่างละเอียดพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลกระพี้จั่น (Millettia) วงศ์ถั่ว (Fabaceae) จึงได้ร่วมเขียนตีพิมพ์

โดย กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ขอพระราชทานนาม ซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ที่ขอพระราชทานนามว่า Millettia sirindhorniana Mattapha, Thanant., Kaewmuan & Suddee คำระบุชนิด “sirindhorniana” ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 และได้มีพระกระแสรับสั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้เดินทางไปร่วมรับเสด็จ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำเนินการสำรวจชนิดพรรณไม้ในโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพิ่มเติมอีก จำนวน 3 ลุ่มน้ำ จากเดิมที่สำรวจไปแล้ว 1 ลุ่มน้ำ พืชชนิดใหม่นี้มีชื่อไทยซึ่งเป็นนามพระราชทานว่า “ม่วงราชสิริน” ตัวอย่างต้นแบบเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

“ม่วงราชสิริน”  มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม เกลี้ยงเมื่อแก่ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย 7-9 ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ ใบปลายรูปไข่กลับ มีขนาดใกล้เคียงกับใบคู่ล่าง ๆ หรือใหญ่กว่าเล็กน้อย ใบทั้งหมดกว้าง 2.5-6 ซม. ยาว 5-15 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมถึงยาวคล้ายหาง โคนมนถึงมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ส่วนอื่นเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบยาว 6-10 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านใบย่อยยาว 3-5 มม. มีขนสั้นนุ่ม ไม่มีหูใบย่อย ช่อดอกออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ช่อตั้งขึ้น มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ดอกสีม่วง มีเส้นสีม่วงแดงเข้มตามยาว ใบประดับและใบประดับย่อยมีขนาดเล็ก ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ยาว 2.5-3 มม. ผิวด้านนอกมีขนสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง กลีบดอกกลีบกลางรูปเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ปลายเว้าตี้น บนก้านกลีบมีต่อมนูน ผิวด้านนอกมีขนสีเงินที่ช่วงปลายกลีบ ช่วงโคนเกลี้ยง ด้านในเกลี้ยง กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายมน โคนตัด เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน กลีบคู่ล่างรูปขอบขนานแกมรูปเคียว ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายมนกลม โคนมน ผิวด้านนอกมีขนสีเงิน ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้คล้ายเชื่อมติดกลุ่มเดียว รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ผลรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ แบน กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 5-8 ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น

ซ่อนแก้ว

นอกจากนี้ ผศ. ดร.สไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ถั่ว (Fabaceae) ของไทย ยังได้ร่วมกับนักพฤกษศาสตร์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย นางสาวนัยนา เทศนา หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลกอีกชนิด คือ “ซ่อนแก้ว” โดยค้นพบที่จังหวัดเพชรบูรณ์ บริเวณวัดผาซ่อนแก้ว และที่จังหวัดเชียงราย บริเวณน้ำตกขุนกรณ์และอุทยานแห่งชาติขุนน้ำนางนอน ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศเขาหินปูนประเทศไทย พืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Millettia tomentosa Mattapha & Tetsana” คำระบุชนิด “tomentosa” ตั้งตามลักษณะขนที่หนาแน่นบริเวณรังไข่และผล ส่วนชื่อไทย “ซ่อนแก้ว” ตั้งตามชื่อแหล่งเก็บตัวอย่างต้นแบบ ที่วัดผาซ่อนแก้ว ตัวอย่างต้นแบบเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

โดยผู้วิจัยได้ตรวจสอบชนิดที่มีการรายงานในภูมิภาคเอเชียและตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงทั้งในและต่างประเทศ พบว่าชนิดนี้ยังไม่มีการให้ชื่อพฤกษศาสตร์ การพบพืชชนิดนี้ครั้งแรกเป็นตัวอย่างเพียงแค่ฝัก ต่อมามีการตามเก็บตัวอย่างดอกเพื่อยืนยันชนิดที่ถูกต้องโดยใช้เวลา 8 ปี จนในที่สุดจึงได้ตัวอย่างที่สมบูรณ์ ได้แก่ ใบ ฝัก ดอก ผล และเมล็ด นำมาซึ่งการตรวจสอบและตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ ประเทศไทยนับว่าพืชสกุลกระพี้จั่นมีความหลากหลายชนิดมากที่สุดในโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีการค้นพบจำนวนชนิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในสมัยอดีตยังไม่มีการศึกษารายละเอียดมากนัก และอาจเนื่องจากพืชสกุลนี้เป็นสกุลที่ยากต่อการศึกษา

สำหรับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ “ซ่อนแก้ว” เป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย 5-9 ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ใบปลายรูปไข่กลับ ใบทั้งหมดกว้าง 3-6 ซม. ยาว 8-15 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายตามเส้นใบ ส่วนอื่นเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบยาว 4-10 ซม. มีขนหนาแน่น ก้านใบย่อยยาว 4-5 มม. มีขนสั้นนุ่ม ไม่มีหูใบย่อย ช่อดอกออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ใบประดับร่วงง่าย ดอกสีขาวถึงชมพูอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ยาว 2.5-3 มม. ผิวด้านนอกมีขนหนาแน่น กลีบดอกกลีบกลางรูปเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ปลายเว้าบุ๋ม ช่วงกลางก้านกลีบมีต่อมนูน ผิวด้านนอกมีขนสีทองหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง กลีบคู่ข้างรูปเคียว ยาว 7-8 มม. ปลายแหลม โคนตัด เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน กลีบคู่ล่างรูปเคียวถึงรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 6 มม. ผิวด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้เชื่อมติดกลุ่มเดียว รังไข่มีขนหนาแน่น ผลรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ แบน กว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 8-11 ซม. มีขนหนาแน่น

อย่างไรก็ตามถือได้ว่า “ม่วงราชสิริน” (Millettia sirindhorniana Mattapha, Thanant., Kaewmuan & Suddee) และ “ซ่อนแก้ว” (Millettia tomentosa Mattapha & Tetsana) เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่นักพฤกษศาสตร์ของไทยได้ค้นพบ ซึ่งทั้ง 2 ชนิดอยู่ในสกุลเดียวกันคือ สกุลกระพี้จั่น (Millettia) จากประเทศไทย โดยได้ตีพิมพ์ตามกฎเกณฑ์ทางพฤกษศาสตร์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 50(2) หน้าที่ : 89-99 ปี พ.ศ. 2565  https://li01.tci-thaijo.org/index.php/ThaiForestBulletin/issue/current

เอกสารอ้างอิง: Mattapha, S., Suddee, S., Tetsana, N., Thananthaisong, T. & Kaewmuan, A. 2022. Millettia sirindhorniana and M. tomentosa, two new species of Millettia (Fabaceae: Millettieae) for Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 50(2): 89–99.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด