วันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า ชุดปฏิบัติการติดตามพฤติกรรมและการเคลื่อนที่ของช้างป่า (ส่วนกลาง) ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า (ส่วนกลาง) เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าที่ 1 (ภาคกลาง) สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่า และผู้นำชุมชน ดำเนินการจับช้างป่าเพศผู้ (สีดอหนุ่ม) อายุประมาณ 30-35 ปี สูง 2.90 เมตร น้ำหนักประมาณ 5 ตัน เพื่อติดอุปกรณ์ติดตามตัว (GPS Collar) ออกนอกพื้นที่รบกวนประชาชนในพื้นที่หมู่ 1 หมู่บ้านทุ่งลุยลาย ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอยู่ในท้องที่รับผิดชอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และเครือข่ายชุมชนฯ ในการเฝ้าระวังและป้องกันผลกระทบต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนจากช้างป่าตัวดังกล่าว และเพื่อประโยชน์ต่อการจัดการและการอนุรักษ์ช้างป่าของประเทศไทย
นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า การติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้างป่าครั้งนี้ถือเป็นทางออกของคนและช้างป่า ในพื้นที่ประสบปัญหาดังกล่าวในขณะที่ช้างป่าได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ความเหมาะสมของถิ่นอาศัยได้ลดลง รวมถึงพื้นที่ป่าถูกบุกรุกเพื่อนำไปใช้ในการเกษตรและเพาะปลูก ด้านชุมชนก็ได้รับผลกระทบจากความเสียหายของพืชผลที่ไม่สามารถนำไปจำหน่ายและเป็นการสูญเสียรายได้ ซึ่งในบางครั้งความขัดแย้งระหว่างคน และสัตว์ป่าที่เกิดขึ้นนั้น ก่อให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสีย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทีมนักวิจัย สัตว์แพทย์ และเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าลงพื้นที่ติดตามและศึกษาโครงสร้างประชากร พฤติกรรมช้างป่ารวมทั้งศึกษาเส้นทางการเดินของฝูงช้างป่าแต่ละกลุ่ม เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรกร ซึ่งก็ได้เห็นปัญหาในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินของเกษตรกรโดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมถึงการบาดเจ็บและสูญเสียทั้งชีวิตของทั้งคนและช้างป่า ดังนั้นจึงได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้าง ซึ่งเป็นวิธีที่หลายประเทศนำมาใช้ และได้ผลดี มาใช้ในการติดตามช้างป่าในครั้งนี้ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับจากปลอกคอสัญญาณดาวเทียมจะถูกนำมาใช้วางแผนการทำงานของเจ้าหน้าที่ร่วมกับกับภาคชุมชนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป