• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรม​อุทยานฯ​ ร่วมเผยแพร่ผลการรณรงค์ ลดการบริโภคสัตว์ป่าผิดกฏหมายในประเทศไทย

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดย นางใกล้รุ่ง พูลผล ผู้อำนวยการส่วนบริหารอนุสัญญา กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา พร้อมด้วย นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักบริหารงานกลาง และ นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ผลการรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภคสัตว์ป่า กิน.กอด.โลก (Kind Dining) และ ยัน(ต์)ว่าดี ยัน(ต์)ว่าได้บุญ (Mercy is power) ซึ่งจัดขึ้นโดย TRAFFIC และ ZSL ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และ UNDP ณ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์ เพลินจิต กรุงเทพฯ

นางใกล้รุ่ง พูลผล ผู้อำนวยการส่วนบริหารอนุสัญญา กล่าวว่า ในปัจจุบันการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า การใช้ผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนจากสัตว์ป่า เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันที่ทำให้จำนวนประชากรสัตว์ป่าหลายชนิดลดลงอย่างมาก โดยสัตว์ป่าถูกซื้อและบริโภคด้วยเหตุผลหลายประการ เช่นเพื่อโภชนาการ เป็นสัตว์เลี้ยง ยารักษาโรค ความเชื่อ สุนทรียภาพ และอื่น ๆ อีกมากมาย การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายนั้นคุกคามการอยู่รอดของสัตว์ป่าหลายชนิด อีกทั้งยังส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 17 ของภาคีอนุสัญญาไซเตส ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ได้เพิ่มปณิธาน เพื่อลดความต้องการการบริโภคสัตว์ป่าฯ ซึ่งประเทศไทยได้มีการรวมกลุ่มของผู้ที่ทำงานเพื่อลดความต้องการฯ ที่ร่วมมือและแบ่งปันความรู้เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Combatting Illegal Wildlife Trade in Thailand, focusing on Ivory, Rhino Horn, Tiger and Pangolins” ที่ได้รับทุนจาก Global Environment Facility (GEF) มีการนำเสนอผลการรณรงค์ Mercy is power เพื่อลดความต้องการใช้เครื่องลางที่ทำจากชิ้นส่วนจากเสือและงาช้าง และนำเสนอภาพรวมของแคมเปญ Kind Dining เพื่อลดความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฏหมายในประเทศไทย รวมถึงระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความร่วมมือที่เป็นไปได้จากหน่วยงานพันธมิตร สำหรับการรณรงค์ในอนาคตเพื่อแก้ปัญหาการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฏหมายในประเทศไทย

แคมเปญ ยันต์ว่าดี ยันต์ว่าได้บุญ (Mercy is Power) เป็นแคมเปญเพื่อลดความต้องการของผลิตภัณฑ์เครื่องรางจากงาช้างและเสือ ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยตัวแคมเปญนั้นใช้การเล่นคำ “ยันต์” เครื่องรางที่มีความเชื่อว่าสามารถปัดเป่าอันตรายและนำโชคที่คนไทยนิยมใช้ โดยมีจุดประสงค์หลักคือเปลี่ยนความเชื่อจากการใช้เครื่องรางจากงาช้างและเขี้ยวเสือที่มาจากการพรากชีวิตของสัตว์ป่า ให้มาเป็นการใช้ยันต์อิเล็กทรอนิกส์ที่พิมพ์ภาพของเสือและช้าง ซึ่งเข้ากับยุคสมัยและเหมาะกับการใช้ชีวิตของคนไทยในปัจจุบันแทน ซึ่งแคมเปญนี้มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน 2564

ส่วน แคมเปญ กิน.กอด.โลก (Kind Dining) มุ่งเน้นในการเชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมายให้คำมั่นสัญญาว่าไม่กินเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องและอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมทั้งลดความเสี่ยงของโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์ป่า เช่น ซาร์ส และอาจรวมถึงโควิด-19 ด้วยโดยแคมเปญนั้นมาจากการรวมคำระหว่าง Kindness (ความใจดี มีเมตตา) และ Fine Dining (การกินอาหารที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี ทำให้รู้สึกถึงความพิเศษที่ไม่สามารถสัมผัสได้จากร้านทั่วไป) ก่อเกิดเป็นแนวคิดว่า มื้อที่ดีและพิเศษที่สุด คือ มื้อที่ไม่ทำร้ายสัตว์ป่า โดยแคมเปญมีเป้าหมาย คือ การรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายและปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคเหล่านี้ในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะลดความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายในอนาคต ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2565

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด