• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ เผย ‘การเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า’ เน้นความปลอดภัย คืนช้างสู่ป่าได้อย่างสันติ

วันที่ 28 มีนาคม 2565 นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ของการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่าในปัจจุบันคือ การลดลงของทั้งขนาดและคุณภาพของถิ่นอาศัย และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 41 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 25 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 16 แห่ง โดยความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้น กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดทำแผนการจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า พ.ศ. 2563-2572 เป็นแผน 10 ปี  ครอบคลุมทุกพื้นที่การกระจายของช้างป่า โดยมีพื้นที่เร่งด่วน 5 กลุ่มป่าที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าแก่งกระจาน  กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าตะวันตก และ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว รวมถึงพื้นที่กลุ่มป่าในภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งสิ้น 7 กลุ่มป่า

นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า

กลุ่มป่าตะวันออกรอยต่อ 5 จังหวัด มีพื้นที่ 1.3 ล้านไร่ แต่ช้างเพิ่มขึ้นปีละ 8% ทุกปี ขณะที่ศักยภาพของพื้นที่รองรับช้างได้ 323 ตัว เท่านั้น ปี 64 สำรวจพบ 470 ตัว คาดว่าจะขึ้นถึง 500 ตัวแล้ว เกินศักยภาพพื้นที่ป่าธรรมชาติ ทำให้พบช้างป่าออกนอกพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มช้างป่าจะออกมารบกวนประชาชนถี่ขึ้น อีกทั้งยังได้มีการพัฒนาพื้นที่ชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชน เรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้าง ทั้งท้องที่ ท้องถิ่นและประชาชน ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนแยกจากแหล่งน้ำช้างป่า ส่งเสริมให้เกิดป่าชุมชนร่วมกับภาครัฐ สร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความพยายามเพื่อแก้ปัญหาของทีมนักวิจัยคือ “การเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า” ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการคืนช้างสู่ป่าอย่างสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ปลอดภัยทั้งต่อช้างป่าและผู้ปฏิบัติงาน ไม่ส่งผลต่อสุขภาพรวมถึงพฤติกรรมของช้างป่า ทั้งนี้ในปัจจุบันหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ได้ใช้วิธีการเฝ้าระวังและผลักดันโดยการใช้แสงไฟร่วมกับเสียงคนในการผลักดันช้างป่า ตลอดจนเพื่อกำหนดทิศทางการผลักดันช้างป่ากลับเข้าพื้นที่ การเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าด้วยวิธีนี้จะช่วยให้คนปลอดภัย ช้างปลอดภัย คืนช้างสู่ป่าได้อย่างสันติ ทั้งนี้ ทีมเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า จำเป็นที่จะต้องมีประสบการณ์หรือเรียนรู้หลักการเฝ้าระวังช้างป่าก่อนปฏิบัติการ รวมถึงระหว่างปฏิบัติการก็ต้องมีความรอบคอบ มีสติ และไม่ประมาทด้วยเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด