วันที่ 23 มีนาคม 2565 นายนิทัศน์ นุ่นสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ได้เข้าร่วมการประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ในการลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการตรวจสอบปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ทับซ้อนที่ดินทำกินของประชาชน โดยมี นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดระยอง ผู้แทนนายอำเภอเขาชะเมา ผู้นำชุมชน ผู้แทนภาคประชาชน และตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วม ณ วัดน้ำเป็น ม.6 ต.น้ำเป็น อ.เขาชะเมา จ.ระยอง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
โดย ผู้แทนภาคประชาชนได้ชี้แจงว่าเดิม ต.น้ำเป็น เป็น อ.แกลง มาก่อน และชุมชนมีการเข้ามาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2505 ต่อมาปี พ.ศ. 2507 ได้มีการกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่รับรู้ของชาวบ้าน แต่การออกเอกสารสิทธิ์ ช่วงเวลานั้นมีปัญหาในด้านการสื่อสาร และการเดินทางที่ลำบาก จึงทำให้การขอออกเอกสารสิทธิ์ไม่ครบถ้วนทุกแปลง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2518 ได้มีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง พร้อมมีแผนที่แสดงแนวเขตตามท้ายพระราชกฤษฎีกา และมีการปักหมุดหลักเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน ต่อมาในปี พ.ศ.2554 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งแต่งคณะกรรมการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้แนวเขตทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้าน ม.2 ม.6 และ ม.7 จึงทำให้ชาวบ้านไม่ยอมรับเส้นแนวเขตที่ปรับปรุงใหม่ เนื่องจากระบุว่าทำกินมาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมีหลักฐานของการมีอยู่ของวัด และโรงเรียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513
ด้าน ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้กล่าวว่า กรณีการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ สืบเนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติฯ โดยการถ่ายทอดแผนที่ตามท้ายพระราชกฤษฎีกาปี พ.ศ. 2518 มาตราส่วน 1:50,000 เป็น 1:4,000 ซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาการและสภาพพื้นที่ ทั้งนี้ผลของการรังวัดปรับปรุงแนวเขตได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการแล้ว ซึ่งยืนยันและรับรองว่าการถ่ายทอดดังกล่าวถูกต้อง ส่วนกรณี มาตรา 64 พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เกิดขึ้นจากการแก้ไขปัญหาที่ดินให้ชาวบ้านอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ของรัฐตาม มติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 เดิม ซึ่ง มาตรา 64 พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ทำกินตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ดังเดิม ปัจจุบันยังรอกฎหมายลำดับรองประกาศบังคับใช้ในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตามจากการร่วมกันพิจารณาของที่ประชุม ประธานกรรมาธิการฯ ได้ข้อสรุปว่า คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะประสานงานผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เพื่อแต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยหลายภาคส่วนร่วมกันสำรวจแปลงที่ดินทำกินชาวบ้าน หมู่ 2 หมู่ 6 และ หมู่ 7 ต.น้ำเป็น อ.เขาชะเมา จ.ระยอง บริเวณที่เป็นพื้นที่คัดค้านแนวเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อแล้วเสร็จจะให้ทางอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง นำเสนอ กรมอุทยานแห่งชาตฯ พิจารณาตรวจสอบ และนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ ดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง แจ้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องชะลอการบังคับใช้กฎหมายบริเวณพื้นที่ที่มีการคัดค้านแนวเขตดังกล่าวออกไปก่อนเพื่อไม่เป็นการเข้าข่ายมาตรา 157
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้นำเสนอการเข้าร่วม มาตรา 64 พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เนื่องจากชาวบ้านยังสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่โดยการดำรงชีพได้ตามปกติ ซึ่งประเด็นนี้ มีตัวแทนชาวบ้านระบุว่าขอให้หน่วยงานมีการพิสูจน์ทบทวนแนวเขตอุทยานแห่งชาติให้ชัดเจนก่อน หากสุดท้ายไม่สามารถเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติในส่วนที่ชาวบ้านคัดค้านได้ มาตรา 64 ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว