วันที่ 18 มีนาคม 2565 นายสุรศักดิ์ อนุเมธางกูร หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และหัวหน้าศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก พร้อมด้วย สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ได้ร่วมกับกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำการกายภาพเสือโคร่ง เพศผู้ ชื่อลายแทง อายุ 19 ปี โดยได้รับความอนุเคราะห์ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมอุปกรณ์การรักษา จากโรงพยาบาลสัตว์แอนิมัลสเปซ
ด้าน สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก กล่าวว่า เสือโคร่งลายแทง ซึ่งเป็นเสือชรา ได้มีอาการป่วยกระทันหันซึ่งได้ทำการรักษาเบื้องต้นแต่ก็ไม่สามารถลุกขึ้นเองได้ อีกทั้งพบว่า ค่าไตและค่าตับสูงผิดปกติ เม็ดเลือดขาวสูง เม็ดเลือดแดงต่ำ ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้ทำการรักษาตามอาการ แต่สัตว์มีอาการคงที่ไม่ทรุดหนักไปกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่สามารถลุกนั่งหรือยืนได้ด้วยตัวเอง สัตวแพทย์จึงตัดสินใจทำการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์ทางเลือก (ฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า) ร่วมกับการกายภาพบำบัด โดยได้ทำการฝังเข็มรักษาพร้อมทั้งกระตุ้นไฟฟ้าผ่านเข็มที่ทำการฝังตามจุดต่างๆที่สำคัญของร่างกายสัตว์ป่วย และทำการใช้คลื่นอัลตร้าซาวน์ ในการลดปวด ลดอักเสบ ของกล้ามเนื้อและทำการกระตุ้นไฟฟ้าตามมัดกล้ามเนื้อโดยหวังผลเรื่องชะลอกล้ามเนื้อลีบ ซึ่งกล้ามเนื้อมีผลต่อการเคลื่อนไหวของตัวสัตว์
อย่างไรก็ตาม ในการรักษาด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้าจะต้องมีการตรวจค่าเลือด และตรวจสภาพร่างกายของสัตว์ทุกครั้ง ซึ่งจากการรักษาดังกล่าวพบว่าสัตว์มีอาการดีขึ้น และจะต้องทำการทำซ้ำในช่วง 7-10 วัน โดยจะต้องประเมินสภาพร่างกายของสัตว์ก่อนการรักษาทุกครั้ง ทั้งนี้การรักษาดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ได้นำเอาศาสตร์การแพทย์ทางเลือกด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้ามารักษาเสือโคร่งชราดังกล่าว โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลสัตว์แอนิมัลสเปซ โดย สพ.ญ.วรินดา สมฤทธิ์ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็มและแพทย์ทางเลือก และ กภ.รินรดา สมดุลยาวาทย์ นักกายภาพบำบัด