วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 นายวีระศักดิ์ ศรีสัจจัง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.1 (เกาะเมียง) พบลูกเต่าตนุได้ทำการฟักไข่จำนวน 80 ตัว หลังจากแม่เต่าตนุได้ขึ้นมาวางไข่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 จำนวน 93 ฟอง อัตราการฟักคิดเป็น 86.02 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ลูกเต่าตนุทั้งหมดได้ปล่อยลงสู่ทะเลบริเวณหาดหน้าเกาะเมียง (เกาะสี่) ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เพื่ออยู่ตามธรรมชาติต่อไป
เต่าตนุ เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนักมากเมื่อโตเต็มที่ โดยมีความยาวตั้งแต่หัวจรดหางประมาณ 1 เมตร น้ำหนักราว 130 กิโลกรัม หัวป้อมสั้น ปากสั้น เกล็ดเรียงต่อกันโดยไม่ซ้อนกัน กระดองหลังโค้งนูนเล็กน้อย บริเวณกลางหลังเป็นแนวนูนเกือบเป็นสัน ท้องแบนราบขาทั้งสี่แบนเป็นใบพาย ขาคู่หลังมีขนาดเล็กกว่าขาคู่หน้ามาก ขาคู่หน้ามีเล็บแหลมเพียงข้างละชิ้น สีของกระดองดูเผิน ๆ มีเพียงสีน้ำตาลแดงเท่านั้น แต่ถ้าหากพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่าเกล็ดแต่ละเกล็ดของกระดองหลังมีสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอมเขียว ขอบเกล็ดมีสีอ่อน ๆ เป็นรอยด่างและมีลายเป็นเส้นกระจายออกจากจุดสีแดงปนน้ำตาล
เต่าตนุโตเต็มที่เมื่ออายุได้ 4–7 ปี เชื่อกันว่าอายุยืนถึง 80 ปี ฤดูวางไข่ตกอยู่ในราวเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายนในบริเวณอ่าวไทย และอยู่ในราวเดือนกันยายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ในทะเลอันดามัน จำนวนไข่ต่อครั้งมีตั้งแต่ 70–150 ฟอง เต่าขนาดโตเต็มที่แล้วจะว่ายน้ำหากินไปเรื่อย ๆ แต่จะกลับมาวางไข่บนชายหาดที่ถือกำเนิด