• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

งานวิจัยในป่าอนุรักษ์ ‘ปูเจ้าพ่อหลวง’ ใน ขสป.ภูหลวง และอุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย

ปูเจ้าพ่อหลวง ปูหิน หรือปูน้ำตก Indochinamon bhumibol (Naiyanetr, 2001) เป็นปูน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

ปูเจ้าพ่อหลวงเป็นปูถิ่นเดียวของไทย (endemic species) พบเฉพาะที่จังหวัดเลยและบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดชัยภูมิ มีสถานภาพเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) เนื่องจากถูกนำมาบริโภคมากเกินไป ปัญหามลพิษ และกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมการบริโภคปูในช่วงที่ปูมีการสะสมไขมันและยังไม่มีแนวทางในการคุ้มครองปูเจ้าพ่อหลวง รวมถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของปูเจ้าพ่อหลวงอย่างปันรูปธรรม

ดังนั้น ศิริกรณ์ ศรีโพธิ์, กิตติ ตันเมืองปัก และวิไลกษณ์ ชูมสไตอินน์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จึงได้ศึกษาลักษณะถิ่นที่อยู่อาศัย และประเมินจ้ำนวนประชากร ของปูเจ้าพ่อหลวงในขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงและอุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย โดยศึกษาข้อมูลกายภาพของแหล่งน้ำ ได้แก่ ลักษณะโขดหิน การไหลของน้ำ ความกว้าง ความลึก และความโปร่งใสของแหล่งน้ำ อุณหภูมิและสีของน้ำ และอุณหภูมิของอากาศ และศึกษาข้อมูลทางเคมีของแหล่งน้ำ ได้แก่ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) และความเป็นกรดต่างของน้ำ (PH) ปริมาณแคลเซียม ปริมาณแมกนีเซียม ปริมาณคลอไรค์ และปริมาณไบคาร์บอเนต

ผลการศึกษาพบว่า ปูเจ้าพ่อหลวงชอบอาศัยอยู่ตามลำห้วย ลำธาร ตามภูเขาที่มีโขดหินกระจายทั่วไป ที่ระดับความสูง 400-1,126 เมตร พบในพื้นที่สูงมากกว่าปูน้ำจืดชนิดอื่นในประเทศไทย โดยพบปูเจ้าพ่อหลวงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงและอุทยานแห่งชาติภูเรือ ที่ระดับความสูง 400-890 เมตร และ 406
-1,126 เมตร ตามลำดับ

ลำห้วยที่พบปูเจ้าพ่อหลวงอาศัยอยู่ มีลักษณะเป็นลำห้วยขนาดเล็กที่มีความกว้าง 2 เมตร ไปจนถึงลำห้วยขนาดใหญ่ที่มีความกว้างของลำห้วยถึง 20 เมตร ปูเจ้าพ่อหลวงมักหลบซ่อนตัวอยู่บริเวณที่เป็นซอกหิน ในดิน
หรือใต้ซากใบไม้ใกล้แหล่งน้ำ ทั้งบริเวณน้ำไหลและบริเวณน้ำนิ่ง การสังเกตพฤติกรรมพบว่าปูเจ้าพ่อหลวงจะออกมาจากรูหรือที่หลบซ่อนเมื่อพบเหยื่อ อาหารของปูเจ้าพ่อหลวง คือ สัตว์ พืช สาหร่าย เห็ด และซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆในแหล่งน้ำ การศึกษานี้ พบปูเจ้าพ่อหลวงเพศผู้และเพศเมียจับคู่ผสมพันธุ์บริเวณริมตลิ่ง ในเดือนกรกฎาคม โดยมีการขุดดินเป็นรูและจับคู่ผสมพันธุ์กันบริเวณปากรูนั้น

การศึกษาลักษณะทางกายภาพและเคมีของแหล่งน้ำกับการปรากฎของปูเจ้าพ่อหลวงพบว่า ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) เป็นปัจจัยแวดล้อมปัจจัยเดียวที่มีอิทธิพลต่อจำนวนปูเจ้าพ่อหลวงที่พบในพื้นที่ศึกษา ดังนั้น คุณภาพของน้ำในลำน้ำ เป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อประชากรปูเจ้าพ่อหลวงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการทราบลักษณะถิ่นที่อยู่อาศัยและจำนวนประชากรของปูเจ้าพ่อหลวงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงและอุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลยด้านการจัดการฟื้นที่ นำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ จัดทำศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์ปูเจ้าพ่อหลวงอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมในการจัดกา หามาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรให้เพิ่มขึ้น

ที่มา :สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด