• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สลด! อุทยานฯ เขาชะเมา-เขาวง ลาดตระเวนพบซาก ‘กระทิง’ เท้าติดบ่วงแร้วขาดใจตาย

วันที่ 7 มกราคม 2565 นายนิทัศน์ นุ่นสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ร่วมกับฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่า (เขายายดา)​ ร่วมกันลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบจนกระทั่งมาถึงบ้านคลองหิน หมู่ 1 ต.ห้วยทับมอญ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ได้กลิ่นเหม็นเน่าคล้ายซากสัตว์ป่า​ จึงกระจายกำลังค้นหาพบซากกระทิงเพศเมีย จำนวน 1 ซาก อายุประมาณ 15-20 ปี เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 15-20 วัน​ ตรวจสอบตามลำตัว​ หัว​ ไม่พบบาดแผลหรือร่องรอยกระสุนปืนใดๆ ผิวหนังแห้งติดกระดูก มีฝูงแมลงวันตอม และพบเชือกบ่วงไนลอนรัดบริเวณขาหน้าซ้าย ปลายเชือกอีกด้านผูกยึดติดกับต้นไม้ จึงได้ประสานสัตวแพทย์ประจำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เพื่อตรวจพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของกระทิงตัวดังกล่าว โดยจากตรวจสอบพื้นที่บริเวณโดยรอบยังพบบ่วงแร้ว เชือกไนลอน ขนาด 4 หุน ยาว 3 ม. จำนวน 32 เส้น และหมุดเหล็กยึดบ่วงแร้ว ขนาด 3 หุน ยาว 40 ซม. จำนวน 66 อัน ด้วย

จากการตรวจสอบซากสัตว์ป่าดังกล่าว สันนิษฐานว่ากระทิงได้ติดกับดักบ่วงแร้วจนทำให้ขาดน้ำและอาหารติดต่อกันหลายวันจนขาดใจตาย ซึ่งหากทิ้งซากสัตว์ป่าไว้นาน อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคและไม่สามารถเก็บรักษาไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบคดีได้ สัตวแพทย์​และเจ้าหน้าที่จึงได้ทำลายซากสัตว์ป่าตามหลักวิชาการ ด้วยการฝังกลบซากบริเวณสถานที่ปลอดภัยจากการแพร่เชื้อ พร้อมทั้งทำบันทึก นำเรื่องราวและอุปกรณ์ของกลางในการกระทำผิด กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เขาชะเมา อ.เขาชะเมา จ.ระยอง เพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สำหรับ กระทิง หรือ เมย (Bos gaurus) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 4 ตามทะเบียนแสดงบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวที่วางกับดักบ่วงแร้ว ส่งผลให้กระทิงตายครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ฐาน “ล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยประการทั้งปวง” ตาม ม.19 (3) ประกอบ ม.43 แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฐาน “เข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติ” ตาม ม.19 (6) ประกอบ ม.44 แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐาน “นำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม ม.19 (7) ประกอบ ม.45 แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และ ฐาน “เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” ตาม ม.20 ประกอบ ม.47 แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด