วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง 10 หน่วยงาน ได้จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ ทาง www.globaltigerday2021.com เนื่องจากในปีนี้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ทำให้ไม่สามารถจัดงานให้ประชาชนและผู้ที่สนใจเข้าชมงานตามปกติได้
โดยในปีนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “มองสถานการณ์เสือโคร่งปัจจุบันสู่อนาคต หรือ Thailand’s tigers forever : Moving forward to the future” มีการนำเสนอนิทรรศการออนไลน์เกี่ยวกับ สถานการณ์เสือโคร่งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตลอดจนผลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ของหน่วยงานร่วมจัด ได้แก่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF – THAILAND) สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย องค์การแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กร TRAFFIC ซึ่งผู้สามารถเข้าชมนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ ได้ ตามสัญลักษณ์หน่วยงานที่ปรากฎขึ้นที่หน้าเว็บไซต์
นอกจากนิทรรศการออนไลน์แล้ว จะมีการถ่ายทอดสด (ไลฟ์)การเสวนาเกี่ยวกับเสือโคร่ง 2 หัวข้อ ผ่านทางเว็บไซต์งานและ Facebook Fanpage กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยในเวลา 10.30 น. จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับงานด้านอนุรักษ์เสือโคร่งในหัวข้อ “TIGER TALK” ของตัวแทนหน่วยงานร่วมจัด ซึ่งจะมี ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นางสาวเนตรนภา งามเนตร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นางสาวช่อผกา วิจิตรตระกูลชัย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)นายกฤตฤทธิ์ บุตรพรม (บิ๊กเอ็ม) ดารานักแสดง ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ดร.พรกมล จรบุรมย์ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ผู้ร่วมเสวนา ได้เล่าประสบการณ์การทำงานด้านการอนรักษ์เสือโคร่ง ในมิติต่างๆ ทั้งที่ร่วมมือกัน และการทำงานที่แตกต่างกันไป และในเวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อที่ 2 “มองสถานการณ์เสือโคร่งปัจจุบันสู่อนาคต -Thailand’s Tigers Forever : Moving forward to the future” โดยมีนายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร รศ. ดร.ประทีป ด้วงแค หัวหน้าภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายวัชรบูล ลี้สุวรรณ ดารานักแสดงและนักอนุรักษ์ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ดร.เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาด้านเทคนิค สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย
ในวันเสือโคร่งโลกปีนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 13 ประเทศ ที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง ได้ร่วมประกาศเจตนารมย์ตามปฏิญญาหัวหินในการประชุมด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในทวีปเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในพื้นที่เป็น 2 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งปี 2553 – 2565 ขึ้น ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีการดำเนินงานที่ครอบคลุมถึงการเสริมสร้างศักยภาพและการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การสร้างความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความเข้มแข็งของการศึกษาวิจัยเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่อาศัยที่สำคัญ และการสร้างจิตสำนึก ความร่วมมือ และมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายได้มีความพยายามในการดำเนินงานทั้งการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART Patrol ในทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การจัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทำให้ผืนป่าไทยมีจำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติประมาณ 177 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่พบเสือโคร่งประมาณ 160 ตัว จากสถานการณ์เสือโคร่งประเทศไทยในปัจจุบันแสดงให้เห็นเป็นว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพจากความสำเร็จในปัจจุบันหากมองถึงการบรรลุสู่เป้าหมายในการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างในอนาคต กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังคงต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนคนไทยทั้งประเทศในการปกป้องรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งและทรัพยากรป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของ เสือโคร่งในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
สำหรับนิทรรศการออนไลน์ทาง www.globaltigerday2021.com สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ในเวลา 08.00 น. ไปจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้สามารถเข้าชมการจัดงานผ่านเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนแต่อย่างใด แต่สำหรับผู้ที่ร่วมลงทะเบียนทางผู้จัดจะมีการสุ่มรายชื่อเพื่อแจกของรางวัลต่อไป