• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติทับลานใช้โดรน 3 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ผลักดันช้างป่า 50 ตัว กลับคืนสู่ธรรมชาติ งดใช้เสียงในการผลักดัน

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ระดมกำลังพร้อมอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) 3 ลำ และเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการผลักดันช้างป่าประมาณ 50 ตัว ที่ออกมาหากินนอกเขตป่าอนุรักษ์ ให้กลับเข้าสู่ป่าตามธรรมชาติ โดยเน้นย้ำแนวทางงดใช้เสียงวัตถุระเบิดในการผลักดัน เพื่อป้องกันพฤติกรรมก้าวร้าวของช้าง

การปฏิบัติงานเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 โดยอุทยานแห่งชาติทับลาน ร่วมกับ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และเครือข่ายราษฎรเฝ้าระวังฯ ยังคงดำเนินการผลักดันช้างป่าในพื้นที่ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยเฉพาะบริเวณหมู่ 2 บ้านท่าสะตือ และหมู่ที่ 3 บ้านวังอ้ายป่อง

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. เจ้าหน้าที่ได้ใช้โดรนตรวจจับความร้อนที่ติดตั้งลำโพงบินตรวจการณ์ และพบโขลงช้างป่ารวมประมาณ 50 ตัว ซึ่งลดลงจาก 70 ตัวเมื่อวานนี้ โดยแบ่งเป็นโขลงใหญ่และโขลงย่อยรวม 4 โขลง แยกย้ายกันลงหากิน จากการตรวจสอบพบช้างโขลงประมาณ 7 ตัว มุ่งหน้าไปยังบริเวณบ่อลูกรัง ห่างจากหมู่บ้านวังอ้ายป่องประมาณ 1 กิโลเมตร และในเวลา 18.30 น. คณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบโขลงช้างป่าจำนวน 25 ตัว กำลังมุ่งหน้าข้ามลำคลองส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา

คณะเจ้าหน้าที่จึงได้เร่งดำเนินการด้วยวิธีการเชิงรุก โดยการสกัดกั้นบริเวณทางออก (exits point) ขอบชายป่าธรรมชาติด้วยการสุมกองไฟให้เกิดควัน เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังได้มีการทดลองใช้โดรนตรวจจับความร้อนประกอบลำโพงบินตรวจการณ์จำนวน 3 ลำในการผลักดันโขลงช้างป่าดังกล่าว ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี โดยโขลงช้างได้วิ่งกลับเข้าสู่ป่าธรรมชาติในที่สุด อย่างไรก็ตาม คณะเจ้าหน้าที่ระบุว่าในการดำเนินการผลักดันด้วยวิธีนี้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการในครั้งถัดไป เนื่องจากช้างป่ามีพฤติกรรมการเรียนรู้และจดจำ

กระทั่งเวลา 20.00 น. เกิดฝนตกหนักเป็นระยะเวลานาน ทำให้ยากต่อการผลักดันช้างป่า คณะเจ้าหน้าที่จึงต้องหยุดพักหลบฝนชั่วคราว ณ วัดวังทองวนาราม และจะกลับมาปฏิบัติงานเฝ้าระวังและผลักดันอย่างต่อเนื่องทันทีที่ฝนหยุด

ด้านนายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้เน้นย้ำถึงนโยบายสำคัญในการหลีกเลี่ยงการใช้เสียงวัตถุระเบิด เช่น พลุหรือประทัดในการผลักดันช้างป่า เนื่องจากจะส่งผลให้ช้างป่ามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว จดจำว่าเมื่อมีเสียงระเบิดแล้วตัวช้างจะได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจะนำไปสู่การที่ช้างมุ่งทำร้ายมนุษย์ในทันทีเมื่อพบเจอ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินในระดับที่รุนแรงในอนาคต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด