4 กรกฎาคม 2568 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ออส.) ได้ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้าน “อารยสถาปัตย์” (Universal Design) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม และการประชุมหารือแผนบริหารจัดการพื้นที่อุทยานฯ อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สั่งการให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการเพิ่มอารยสถาปัตย์และเส้นทางศึกษาธรรมชาติสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ เพื่อความเสมอภาคในการท่องเที่ยว และการบริการและดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยมี นายสมฤกษ์ ศุภมิตรกฤษณา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ และนายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ
เมื่อเวลา 10.00 น. นายอรรถพล เจริญชันษา (ออส.) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดสำคัญต่างๆ เพื่อติดตามการจัดทำ “เส้นทางอารยสถาปัตย์” หรือ Universal Design ซึ่งเป็นการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ รวมถึงผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์พื้นที่ในอุทยานฯ ได้อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ ด่านตรวจศาลเจ้าพ่อ, จุดชมวิว กม.30 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา, ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว, ศูนย์อาหาร และอ่างเก็บน้ำสายศร เนื่องจากเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงกลุ่มผู้พิการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปรับปรุงทางลาดสำหรับรถเข็น ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ และป้ายบอกทางที่ชัดเจน ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพการบริการและประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ประทับใจ ตอกย้ำให้เห็นว่า อุทยานแห่งชาติของเราพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ต่อมา นายอรรถพลได้เข้าร่วมการประชุม คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครั้งที่ 3/2568 ณ ห้องประชุมศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อร่วมหารือรับฟังปัญหาและเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานฯ อย่างยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะในประเด็นการแก้ปัญหาสัตว์ป่าออกหากินนอกพื้นที่รอบแนวเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ ที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเป็นระบบ
การหารือครอบคลุมถึงการจัดทำศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่าเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง และฟื้นฟูพฤติกรรมช้างที่ออกนอกพื้นที่ การทำรั้วกั้นช้างและเพนียดช้าง มาตรการป้องกันและควบคุมการเคลื่อนย้ายของช้างป่าสู่พื้นที่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างแหล่งอาหารและแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อป้องกันสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ในอนาคต การจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวในอุทยานฯ เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศและรักษาสมดุลของธรรมชาติ การจัดทำทุ่งหญ้าและโครงการขอของบประมาณของ PAC (Protected Area Committee) เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้ช้างป่าและสัตว์อื่นๆ การจัดทำสะพานข้ามคลองให้สัตว์ป่า บริเวณทางเชื่อม (Corridor) ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-ทับลาน เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ตลอดจนการพัฒนาจุดท่องเที่ยวน้ำตกเหวอีอ่ำ ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเดิมให้มีความน่าสนใจและเข้าถึงง่ายขึ้น โดยยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติไว้
“การบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต้องดำเนินการอย่างรอบด้าน ทั้งในมิติของการอนุรักษ์ การป้องกัน และการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาช้างป่าที่เราต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบและครบวงจร เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับช้างได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน” นายอรรถพล กล่าว