26 เมษายน 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าตามที่พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมการเงินที่ยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์ภูมิทัศน์เสือโคร่ง (Sustainable Finance for Tiger Landscapes Conference: SFTLC) ระหว่างวันที่ 22 – 23 เมษายน 2567 ณ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน จึงได้มอบหมายให้ ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมด้วย ดร.สมหญิง ทัฬหิกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และ นางสุนีย์ ศักดิ์เสือ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม
ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีฯ ได้เป็นผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย รายงานการดำเนินงานและผลสำเร็จของการอนุรักษ์เสือโคร่ง ที่เริ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 โดยรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งมาอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญของเสือโคร่ง จนสามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการเสือโคร่งแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553 – 2565) โดยการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ภูมิทัศน์เสือโคร่งที่สำคัญ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่ครอบคลุมพื้นที่ 6,400 ตร.กม. ผลจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ พบว่าประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นจาก 41 ตัว ในปี 2557 เป็น 100 ตัว ในปี 2565
นอกจากนี้ยังพบเสือโคร่งในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง แสดงถึงโอกาสที่เพิ่มขึ้นของการสืบขยายพันธุ์และการฟื้นฟูระบบนิเวศ บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งกว่า 20 ปี ของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในรูปแบบภูมิทัศน์เชิงนิเวศ ความจำเป็นของการลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่ครอบคลุมพื้นที่และมีความต่อเนื่อง การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด การติดตามและการรายงานผลเชิงวิทยาศาสตร์ การเดินลาดตระเวนและป้องกันรักษาผืนป่าด้วยความเสียสละและอดทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการร่วมบริหารจัดการพื้นที่ โดยประเทศไทยจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเสือโคร่งแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2677) อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลไทย การบูรณาการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศ ความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและองค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศต่างๆ ต่อไป
ภายหลังเสร็จสิ้นการกล่าวถ้อยแถลง หัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ และผู้บริหารขององค์กรระหว่างประเทศต่างเข้ามาแสดงความชื่นชมกับผลสำเร็จในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศไทย และกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าประเทศ ไทย ถือว่าเป็นแชมป์เปี้ยนของการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถนำมาเป็นโมเดลตัวอย่างสำหรับการดำเนินงานของประเทศถิ่นอาศัยเสือโคร่งประเทศอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี