วันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่องถึงปีหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบและป้องกันได้ทันที ในการลดจุดความร้อน (Hotspot) และสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติ ของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรจนลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า การเผาป่าเพื่อเก็บหาของป่าและล่าสัตว์ รวมถึงการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้มีการสำรวจและตรวจสอบ เพื่อควบคุมและกำกับดูแล สกัดกั้นไม่ให้เกิดการเผาป่าลุกลามและรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อขานรับต่อนโยบายดังกล่าว ในการลดผลกระทบอันสร้างความเสียหายแก่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตลอดจนเกิดฝุ่นละอองและหมอกควันเป็นจำนวนมาก ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมและกระทบกับสุขภาพอนามัยของประชาชน ดำเนินการป้องกันการกระทำดังกล่าวอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ในส่วนของการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์นั้น ได้เร่งรัดดำเนินการสำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ (โค กระบือ แพะ และแกะ) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน อุทยานแห่งชาติ พื้นที่เตรียมการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมถึงพื้นที่ติดต่อกับแนวพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยรอบ เพื่อขอความร่วมมือผู้นำชุมชน และประชาชนไม่ให้มีการเผาป่าสำหรับใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์หรือเผาในพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์จนลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า รวมถึงขอความร่วมมือห้ามนำสัตว์เข้าไปเลี้ยงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยให้เลี้ยงเฉพาะในพื้นที่ควบคุมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หากพบว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนให้เป็นอันตรายต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่นำปศุสัตว์ไปเลี้ยงในเขตป่าอนุรักษ์มาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 คณะพนักงานเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือได้จับกุมและดำเนินคดีกับนายลิขิต (สงวนนามสกุล) ซึ่งได้นำปศุสัตว์ (วัว) จำนวน 55 ตัว มาเลี้ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดคดีอาญา ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ฐาน “ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด หรือทราย ภายในเขตอุทยานฯ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” มาตรา 16 (4) และมาตรา 24 และฐาน “เข้าไปดำเนินการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ภายในเขตอุทยานฯ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” มาตรา 16 (4) และมาตรา 27 โดยมีการจัดทำบันทึกแจ้งความต่อ สภ.แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ศาลได้มีคำพิพากษาให้นายลิขิต (สงวนนามสกุล) จำคุก 4 ปี ปรับ 200,000 บาท จำเลยให้รับสารภาพ รับโทษกึ่งหนึ่ง คือ จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายให้รัฐ 6,420,426 บาท
นายอรรถพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติและกฎหมายเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้การเผาป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ยังมีโทษปรับสูงสุด 2 ล้านบาท และจำคุก 20 ปี อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เลี้ยงปศุสัตว์รายเล็กรายน้อยเพื่อการยังชีพ กรมอุทยานฯจะผ่อนปรนให้ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามข้อระเบียบกฎหมาย ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นผู้ที่ฝ่าฝืน กระทำผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง