วันที่ 21 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้และการสร้างป่าเชิงนิเวศ โดยมี นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีฯ พร้อมด้วย นายจิระพงษ์ คูหากาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และผู้เข้าร่วมฝึกอบรมประกอบด้วย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 80 คน เข้าร่วม ณ ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
โครงการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้และการสร้างป่าเชิงนิเวศ จัดขึ้นภายใต้หลักการกรอบงานเรดด์พลัส (REDD+) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรืนกระจกจากการทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนและการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า ประเทศที่กำลังพัฒนา (Reducing emissions from deforestation and forest degradation, and the role of conservation, sustainable management of forests and enhancement of forest carbon stocks in developing countries) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีแนวคิดหลัก คือ การสร้างแรงจูงใจให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อรักษาป่าไม้ไว้สำหรับเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน เนื่องจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมนั้นก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20
สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม และมุ่งเน้นในการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน โดยการอนุรักษ์ป่าและการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเรดด์พลัสโดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรม ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อมาดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ โดยสร้างแรงจูงใจและกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อกรอบงานเรดด์พลัสให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม
นายอรรถพลฯ กล่าวว่า ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนและทวีความรุนแรงมากขึ้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มบทบาทของป่าอนุรักษ์ในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคป่าไม้เป็นภาคเดียวที่สามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศได้อย่างเป็นรูปธรรม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลายด้าน อาทิเช่น การป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเข้มงวด เพื่อคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอน การกำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้การปฏิบัติงานครอบคลุมทั่วประเทศ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อกำหนดนโยบายและกำกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ การอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการเพิ่มพูนความรู้ เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ออกระเบียบว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูก บำรุง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่าเพื่อแบ่งปันคาร์บอนเครดิต การให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและนานาชาติเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อดำเนินที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การติดตามประเด็นภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มุ่งเน้นที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส การดำเนินกลไก REDD+ กลไก T-VER และการร่วมดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (LT-LEDS) เป็นต้น การดำเนินงานใดที่จะสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (LT-LEDS) ถือเป็นสิ่งสำคัญควรได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อส่งเสริมด้านการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าไม้ การฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงการดำรงชีวิตของประชาชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติฯ มุ่งเน้นการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งก็คือ การปลูกป่าเชิงนิเวศ เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว
การอบรมในครั้งนี้เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีความตั้งใจในการเผยแพร่ความรู้ และบทบาทของภาคป่าไม้ ต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ การรับรู้ การเปิดมุมมอง การสร้างแนวคิดในการดำเนินงานของโครงการฯ และการดำเนินกิจกรรมตามกรอบงานเรดด์พลัสที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ที่จะสนับสนุนการดำเนินการภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้