• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

“กำลังช้างเผือก” พืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลเครือเขาหนัง (Phanera) จากประเทศไทย

วันที่ 19 สิงหาคม 2565 นายสมราน สุดดี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืช ประจำสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ถั่ว มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสาตร์ และนักวิชาการป่าไม้จากสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้ ร่วมกันค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลเครือเขาหนัง (Phanera) จากประเทศไทย พืชชนิดนี้มีชื่อไทยที่เป็นที่รู้จักกันมานานว่า กำลังช้างเผือก มีชื่อพฤกษศาสตร์ที่เพิ่งถูกตีพิมพ์ว่า Phanera mekongensis Mattapha, Suddee & Duangjai  ได้ตีพิมพ์ตามกฎเกณฑ์ทางพฤกษศาสตร์ในวารสารนานาชาติ Blumea เล่มที่ 67 หน้าที่ : 113-122 ปี พ.ศ. 2565  https://www.ingentaconnect.com/content/nhn/blumea/pre-prints/content-nbc-blumea-0637

สกุลเครือเขาหนัง (Phanera) เป็นสกุลที่มีบรรยายตั้งแต่ปื ค.ศ. 1790 โดยมิชชันนารีและนักพฤกษศาสตร์ชาวโปรตุเกส ชื่อ João de Loureiro (โจเอา เดอ เลอรีโร) โดยใช้ชนิดที่เก็บและพบในลาว เป็นตัวอย่างต้นแบบในการบรรยายลักษณะพืช คือ P. coccinea Lour. ต่อมาถูกย้ายไปสกุลชงโค (Bauhinia) เพราะใบมีรูปร่างคล้าย ๆ กัน ปัจจุบันได้นำความรู้ด้านชีวโมเลกุล (molecular phylogeny) มาช่วยยืนยันการจัดจำแนกพืชให้ถูกต้องตามวิวัฒนาการ ทำให้สกุลเครือเขาหนังแยกออกเป็นสกุลเดี่ยว ๆ ซึ่งพบมีกระจายพันธุ์เฉพาะในทวีปเอเชียเท่านั้น

โดย ผศ. ดร.สไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ถั่ว (Fabaceae) ร่วมกับ ผศ. ดร.สุธีร์ ดวงใจ ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายสมราน สุดดี นักพฤกษศาสตร์จากสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายวิทวัส เขียวบาง นักวิชาการป่าไม้จากสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลก กำลังช้างเผือก  การค้นพบพืชชนิดใหม่นี้เริ่มจากเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2550 นายทวี แก้วพวง อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ ได้เก็บตัวอย่างกำลังช้างเผือกซึ่งได้ปลูกไว้ในสวนสมุนไพร มาให้นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ทำการตรวจสอบชนิด แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ นำมาซึ่งการติดตามเก็บตัวอย่างดอกผลและการสำรวจในภาคสนาม จากการสำรวจในภาคสนามอย่างละเอียดและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ไม่พบพืชชนิดนี้ในป่าธรรมชาติแถบนั้น อาจเนื่องมาจากพืชชนิดนี้ถูกตัดทิ้งจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น  จากการสอบถามได้ความว่าพืชชนิดนี้เป็นสมุนไพรบำรุงกำลังที่ใช้กันมานาน เมล็ดที่ปลูกถูกนำจากพื้นที่ริมแม่น้ำโขงที่ไม่ทราบแหล่งแน่ชัด และต่อมาได้มีการนำเมล็ดไปปลูกในที่ต่าง ๆ รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย

พืชชนิดนี้อาจยังมีการกระจายพันธุ์ในธรรมชาติในบางพื้นที่ ที่นักพฤกษศาสตร์ยังไม่สำรวจพบก็เป็นไปได้ ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและพื้นที่ภูเขาควายและเขากระดิง ในเขต สปป. ลาว ที่อยู่ตรงข้ามเพราะมีสภาพป่าและระบบนิเวศที่คล้ายกัน จากการศึกษาตัวอย่างใบ ดอก ผล และเมล็ด อย่างละเอียด พร้อมกับการศึกษาทางชีวโมเลกุลพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลเครือเขาหนัง (Phanera) วงศ์ถั่ว (Fabaceae)  จึงได้ร่วมเขียนตีพิมพ์ภายใต้ชื่อพฤกษศาสตร์ Phanera mekongensis Mattapha, Suddee & Duangjai คำระบุชนิด “mekongensis” หมายถึงลุ่มแม่น้ำโขง แหล่งที่พบ ตัวอย่างต้นแบบหมายเลข Suddee, Puudjaa, Hemrat & Kiewbang 5390 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้

การตรวจสอบและการยืนยันชนิดค่อนข้างยากลำบากสำหรับพืชที่ไม่ทราบแหล่งที่มาแน่ชัด เพื่อความถูกต้องมากที่สุดว่าไม่เคยมีการค้นพบและตีพิมพ์ชนิดนี้มาก่อน ทีมผู้วิจัยได้ตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่าพืชชนิดนี้มีลักษณะบางประการที่คล้ายคลึงเล็กน้อยกับชนิดที่พบแถบยูนนาน ในประเทศจีน ได้แก่ ใบ รูปทรงของดอก รูปร่างกลีบดอก แต่เมื่อพิจารณาลักษณะอื่น ๆ เพิ่มเติม พบว่า ทั้ง 2 ชนิดมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ได้แก่ ลักษณะปลายใบ รูปร่างดอกตูม สีดอก ขนาดของเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย รวมถึงการที่มีฝักเกลี้ยง การศึกษาทางด้านชีวโมเลกุลยังช่วยยืนยันความใกล้ชิดกับชนิดในสกุลเดียวกัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้เถาเนื้อแข็ง มือจับเรียงตรงข้าม มีขนหนาแน่น กิ่งอ่อนมีขนสีขาวหนาแน่น เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ กว้าง 5.5-12 ซม. ยาว 6-15.5 ซม. ปลายแยกเป็น 2 แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ถึงรูปใบหอก ปลายรูปคล้ายสามเหลี่ยม โคนใบรูปหัวใจ ขอบมีขน แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นจากโคนใบ 9-11 เส้น เส้นกลางใบตรงจุดที่ปลายใบแยกโผล่เลยขึ้นไปเล็กน้อย ก้านใบยาว 3-3.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม หูใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง ช่อตั้งขึ้น ยาวได้ถึงประมาณ 25 ซม. ดอกในช่อมี 20-35 ดอก เรียงในช่อแบบหลวม ๆ แกนช่อดอกมีขนหนาแน่น ใบประดับรูปไข่ถึงรูปใบหอก ใบประดับย่อยรูปแถบถึงรูปใบหอก

ทั้งใบประดับและใบประดับย่อยร่วงง่าย ดอกตูมรูปทรงขอบขนาน ยาว 7-8 มม. มีขนสั้นนุ่ม ฐานดอกรูปถ้วยยาวประมาณ 1 ซม. มีขนหนาแน่น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาว 7-8 มม. แฉกแยกจากปลายไม่เป็นระเบียบ กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองอ่อนถึงชมพูอ่อน กลีบบนมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น รูปไข่กลับหรือรูปช้อน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ปลายมนกลม ขอบเป็นคลื่น ทุกกลีบผิวด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 3 เกสร ที่เป็นหมันมีได้ถึง 2 เกสร รังไข่มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านชูยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ผลรูปขอบขนาน แบน กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 20-32 ซม. แข็ง เกลี้ยง เมล็ด 6-8 เมล็ด รูปรีหรือเกือบกลม ยาวได้ถึง 2 ซม. สีดำ เกลี้ยง

เอกสารอ้างอิง: Mattapha, S., Suddee, S., Duangjai, S. & Kiewbang, W. 2022. Phanera mekongensis (Fabaceae: Cercidoideae), a new species from Thailand as supported by morphological and molecular evidence. Blume 67: 113–122.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด