• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

TRAFFIC หารือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จับมือต้านการค้าสัตว์ป่าในประเทศไทยและอาเซียน

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 คณะผู้แทนองค์กรต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย (TRAFFIC) ซึ่งนำโดย Ms. Kanitha Krishnasamy, Director for TRAFFIC Southeast Asia พร้อมด้วย Ms. Renee Yee, Programme Officer for Training and Capacity Building Ms. Dararat Weerapong, Social and Behaviour Change Advisor for Asia TRAFFIC และ Ms. Maethinee Phassaraudomsak, Data and Research Officer เข้าพบ นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา และนางใกล้รุ่ง พูลผล ผู้อำนวยการส่วนบริหารอนุสัญญา ณ ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารสืบ นาคะเสถียรกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

โดยได้นำเสนอข้อมูลและผลการดำเนินงานของ TRAFFIC ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ได้แก่ (1) การติดตามสถานการณ์การค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย ทั้งในตลาดทางกายภาพและออนไลน์ (2) การวิเคราะห์ผลการจับกุมดำเนินคดี เพื่อปรับปรุงแนวทางการสืบสวนสอบสวนและการพิจารณาคดีในชั้นศาล รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายให้สามารถควบคุมการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (3) การรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสังคม โดยผ่านโครงการรณรงค์ เช่น “Mercy is Power-พลังที่แท้จริงเกิดจากความเมตตาชีวิตช้างและเสือ” และ “Kind dinning (กิน.กอด.โลก)” เป็นต้น (4) การเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรยุติธรรมในส่วนภูมิภาค และ (5) การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน

นอกจากนี้ TRAFFIC ยังได้นำเสนอแนวคิดการจัดตั้ง ASEAN TWIX (Trade Wildlife Information Exchange) ซึ่งเป็นเครือข่ายระบบรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระดับภูมิภาค (Regional Network) ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและแสดงผลได้แบบ Real time โดยระบบนี้ได้จัดตั้งแล้วในยุโรป (EURO TWIX) และแอฟริกา (Africa-TWIX) จำนวน 4 เครือข่าย ซึ่งกรมอุทยานฯ มีความสนใจและเล็งเห็นว่าระบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมายได้เป็นอย่างดี และเตรียมที่จะจัดประชุมหน่วยงานภายในประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบข้อมูลและประสบการณ์การใช้งานจากเครื่องข่าย TWIX ข้างต้นหลังจากนี้ ทั้งนี้ TRAFFIC มุ่งหวังเชิญชวนสมาชิกอาเซียน จำนวน 5 ประเทศ ร่วมใช้งานก่อนเป็นลำดับแรก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับชนิดพันธุ์และประเด็นที่จะมีการพิจารณาในการประชุมภาคีอนุสัญญาไซเตส ครั้งที่ 19 (CoP19) ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ซึ่งประเทศไทยจะได้เสนอขอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืด จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2 รวมถึงแนวทางของอนุสัญญาไซเตสว่าด้วยกลยุทธ์ในการลดความต้องการเพื่อต่อต้านการค้าชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีไซเตสที่ผิดกฎหมาย (CITES guidance on demand-reduction strategies to combat illegal trade in CITES-listed species) ที่ TRAFFIC มีส่วนสำคัญในการพัฒนาแนวทางดังกล่าว นอกจากนี้ TRAFFIC ยังได้แจ้งข้อมูลถึงแนวโน้มที่อาจจะมีการลักลอบค้านอแรดโดยเฉพาะจากแอฟริกามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ถูกกฎหมาย และการลักลอบแบบผิดกฎหมาย จากมาดากัสการ์มายังประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงขอให้รัฐบาลไทยเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดต่อไปอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด