วันที่ 16 สิงหาคม 2565 นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานภาคสนาม ติดตามสถานการณ์น้ำ และเตรียมความพร้อมเข้าดำเนินการ ในการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ต่างๆ จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนของประเทศไทยและพายุที่เคลื่อนเข้าสู่บริเวณใกล้เคียงของประเทศในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมถึงมีโอกาสในการเกิดน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งมีผลถึงประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวทั้งความเสียหายต่อบ้านเรือน ทรัพย์สิน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ นอกจากนี้ ผลกระทบจากน้ำท่วมยังส่งผลต่อพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าต่างๆได้อีกด้วย โดยสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบนั้นอาจมีภาวะบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ หรือมีปัญหาจากการหนีน้ำขึ้นที่สูง ทำให้มีสัตว์ป่าจำนวนไม่น้อยที่หนีน้ำเข้าสู่เขตชุมชน หรือบริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง
โดยที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการฝึกอบรมและเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าทั้ง 3 แห่ง ในการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม บาดเจ็บ หรือพลัดหลงเข้าไปยังเขตที่พักอาศัย หรือชุมชนต่างๆ โดยศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก) จังหวัดนครนายก รองรับการช่วยเหลือสัตว์ป่าในเขตจังหวัดภาคตะวันออกและภาคกลาง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 ( กระบกคู่) จังหวัดฉะเชิงเทรา รองรับการช่วยเหลือสัตว์ป่าบริเวณเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี รองรับการช่วยเหลือสัตว์ป่าในเขตจังหวัดภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน โดยมีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมดำเนินการในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ โดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานช่วยเหลืออื่นๆ ซึ่งพึงระลึกไว้เสมอว่า “สัตว์เหล่านี้คือผู้ประสบภัยเช่นเดียวกันกับเรา”
ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์อุทกภัย สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เช่น งูชนิดต่างๆ เหี้ย ตะกวด ลิงป่าและสัตว์ชนิดอื่นๆ อาจหนีน้ำเข้ามาในเขตบ้านเรือนประชาชน หรือสัตว์อาจได้รับบาดเจ็บ ซึ่งสัตว์เหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ และไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งสามารถประสานไปยังสายด่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง