วันที่ 30 มกราคม 2565 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่าจากกรณีได้เกิดเหตุมีเสือโคร่งทำร้ายชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส โดยทราบชื่อผู้บาดเจ็บคือ นายหวาน ไม่นามสกุล อายุ 46 ปี เป็นชาวกระเหรี่ยง อยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่4 ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งได้เข้าไปเลี้ยงควายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทองผาภูมิ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้บาดเจ็บเบื้องต้นจำนวน 10,000 บาท
ล่าสุด นายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ พร้อมด้วย นายกมลาศ อิสสอาด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ร.ต.อ.สองนคร เครือแสง พงส.ร้อยเวรเจ้าของคดี พ.อ.ธัชเดช อาบัวรัตน์ รอง หน่วย ฉก.ลาดหญ้า
น.ส.กนกวรรณ ตรุยานนท์ สัตวแพทย์ สบอ.3 (บ้านโป่ง) ได้ร่วมกันเดินทางไปยังหมู่บ้านปิล็อกคี่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม เพื่อเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ โดยพบร่องรอยพื้นที่ลักษณะมีการต่อสู้ และมีคราบเลือดหยดบนใบไม้และพื้นดินเป็นทางยาว ระยะทางประมาณ 100 เมตร พบรองเท้าหุ้มส้น 1 คู่ เปื้อนคราบเลือด และซองใส่มีดพก (ไม่พบมีด) นอกจากนี้ยังพบซากควาย 2 ซาก ไม่ทราบเพศ อายุประมาณ 2-3 ปี ถูกกัดกินตายประมาณ ไม่ต่ำกว่า 20 วัน อีกทั้งยังพบมูลเสือใกล้เคียงซากควายอีกด้วย
โดย อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ได้มีคำสั่งห้ามบุคคลใดเข้าไปในพื้นที่ป่าบริเวณลำห้วยปิล็อก สะมะท้อ และบริเวณป่าใกล้เคียงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม รวมทั้ง อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ก็จะมีประกาศ ห้ามบุคคลใดเข้าไปในพื้นที่ป่า บริเวณอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิเช่นกันเดียวกัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน หากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีความผิด ตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 20 ระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และจะมีความผิดฐานขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 มีโทษจำคุก ไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้หากบุคคลใดมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม และอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ก็ให้ขออนุญาตจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม หรือหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิก่อนทุกครั้ง เพื่อจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า คอยติดตามระวังภัย ให้กับผู้ที่จะเข้าไปในพื้นที่ป่าอุทยานดังกล่าว นอกจากเจ้าหน้าที่อุทยานเตรียมผลักดันเสือโคร่งดังกล่าวเข้าไปในเขตป่าลึก ให้อยู่ตามวิธีธรรมชาติของสัตว์ป่า ที่จะเกื้อกูลระบบนิเวศในป่าธรรมชาติต่อไป