วันที่ 15 ธันวาคม 2564 นายภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ร่วมกับโครงการคนพร้าวรักษ์ป่า โดยการสนับสนุนจากโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดเวทีเสวนา “ยุทธศาสตร์คนพร้าวรักษ์ป่ากับการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” โดยมี นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนายการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) เป็นประธาน และร่วมเสวนาในเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่างกฏหมายลำดับรองประกอบมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และแนวทางการอยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติในอนาคต ณ ห้องประชุมวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาประกอบด้วย ท่านพระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด ประธานโครงการคนพร้าวรักษ์ป่า ร.ต.ท.นคร ปัญญาทิพย์ ประธานผู้บริหารท้องถิ่นอำเภอพร้าว นางสาวจิราภรณ์ มีวาสนา หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) นายภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ผศ.ดร.สถาพร แสงสุโพธิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายปราโมท สุขสถิตย์ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำพร้าว นายสุริยา ใจจันทร์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าศรีลานนา นายพยุงพงศ์ ลูกบัว หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาแดง นายณัฐกุล ขันทะสอน หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สะลวม นายอำนาจ ใจมอย หัวหน้าโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน นางสาวน้ำทิพย์ กาศรีวิชัย หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริบ้านขุนปั๋ง ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่อำเภอพร้าวและอำเภอแม่แตง รวมถึงผู้นำชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่
ด้าน นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนายการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กล่าวว่า ชุมชน หมู่บ้านทั้งที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรืออยู่โดยรอบอุทยานแห่งชาติ และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ล้วนมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งด้านการคุ้มครองบำรุง ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการได้รับอนุญาตเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความสมดุลและยั่งยืน ตลอดจนการมีส่วนร่วมจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วย
สำหรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์โครงการคนพร้าวรักษ์ป่า ปี 2565 และบทบาทของท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ รวมถึงแนวทางการจัดการคาร์บอนในภาคป่าไม้ แนวทางการดำเนินกิจกรรมโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ และแนวทางระบบเกษตรสุขภาพรักษ์สิ่งแวดล้อม พัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้อยู่ดีกินดี พร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้องค์ความรู้และงานวิจัย