วันที่ 4 ตุลาคม 2564 เวลา 11.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) แถลงภายหลังการเป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครบรอบ 19 ปี และการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานปีงบประมาณ 2565 ให้กับผู้บริหารหน่วยงานสังกัด ทส.ทั่วประเทศ โดยโชว์ผลงานเด่น ปี 2564 ภายใต้นโยบาย “ทส.หนึ่งเดียว” และ ” ทส.ยกกำลังสอง บวก 4 ” พร้อมลุยต่อ ปี 2565 ชู นโยบาย “ทส. ยกกำลัง x ” มุ่งสู่เป้าหมาย มองไปข้างหน้า อย่างไร้ขีดจำกัด สร้างความมั่นคงทางฐานทรัพยากร สู่ความมั่งคั่งของชุมชนในระดับฐานราก ให้กินดีอยู่ดี มีรายได้มั่นคง มีเศรษฐกิจชุมชนที่ดี เพื่อความสุขของพี่น้องคนไทยทุกคน
รมว.ทส. เผยว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้สักการะพระพุทธสยัมภูและพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงฯ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครบรอบ 19 ปี และได้ร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารหน่วยงานสังกัด ทส.ทั่วประเทศ โดยปีที่ผ่านมา ได้ต่อยอดการทำงานของปี 2563 สู่การมุ่งมั่น “ยกระดับคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ในปี 2564 ภายใต้นโยบาย “ทส. หนึ่งเดียว” และ “ทส. ยกกำลังสอง บวกสี่” ที่แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การทำงานของกระทรวงฯ ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะ การดำเนินงานโครงการในพระองค์และโครงการพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภายใต้ “มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ในพื้นที่บ้านไล่โว่และบ้านสะละวะ ภายใต้ “มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์”
นอกจากนี้ ยังได้จัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้กับชุมชน ภายใต้ โครงการ คทช. ไปแล้วกว่า 3.6 ล้านไร่ เร่งแก้ไขปัญหาส่วนราชการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต จำนวน 101,354 คำขอ ดำเนินการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และป้องกันไฟป่า จำนวน 407,655 ไร่ ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่สามารถลดจุดความร้อน ได้กว่าร้อยละ 50 ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร เพชรบุรี นครศรีธรรมราช จันทบุรี และตราด ด้วยมาตรการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น รวมระยะทางกว่า 11.1 กิโลเมตร จัดทำปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม 7 ขาแท่น สำรวจ “ถ้ำ” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัย จำนวน 15 ถ้ำ อนุรักษ์โครงกระดูก “วาฬอำแพง” และ การขอรับรองสถิติโลก “ไม้ตาก” ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก รวมทั้งการประกาศจัดตั้ง “อุทยานธรณีชัยภูมิ” จ.ชัยภูมิ เป็นอุทยานธรณีแห่งที่ 7 ของประเทศ การประกาศให้“กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ”เป็นแห่งที่ 3 ของประเทศ และการได้รับการรับรองให้ “ดอยเชียงดาว” เป็น “พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก” เป็นแห่งที่ 5 ของประเทศ
อีกทั้งพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน และระบบกระจายน้ำกว่า 136 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 203,137 ไร่ ชุมชนได้ประโยชน์กว่า 52,819 ครัวเรือน พัฒนาแหล่งน้ำบาดาล สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 72 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม 77,480 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 122,919 ครัวเรือน เร่งให้ความรู้ในการแยกทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกต้อง ตลอดจน รณรงค์ “งดรับ” พลาสติกใช้ครั้งเดียว จากบริการส่งอาหาร ส่งเสริมการคัดแยกขยะเพื่อส่งกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ภายใต้โครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ เมื่อคุณหมุนเวียน” ที่มีจุดรับคืนพลาสติกกว่า 450 จุด และรวบรวมขยะพลาสติกสะอาดได้แล้ว 83,357 กิโลกรัม รวมทั้งการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพในการทำงาน เช่น การนำระบบ E-project tacking (อี-โปรเจ็ค แทร็กกิ้ง) ติดตามผลการดำเนินงานในระดับพื้นที่ การใช้อากาศยานไร้คนขับเสริมภารกิจการเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เป็นต้น
สำหรับก้าวต่อไป ในปี 2565 รมว.ทส. เผยว่า จะเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เป็นปีแห่งการปรับตัวและฟื้นฟูเพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชน การใช้ทรัพยากรจะเกิดความคุ้มค่าสูงสุดเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับชุมชน ภายใต้นโยบาย “ทส. ยกกำลังเอ็กซ์” มองไปข้างหน้า อย่างไร้ขีดจำกัด มุ่งสู่วิสัยทัศน์ “ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามแนววิถีใหม่ ภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” เดินหน้า 2 เป้าหมายหลัก ได้แก่ เป้าหมายที่1 การสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน สังคมมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง ประกอบด้วย การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนเพิ่มเติม ภายใต้โครงการ คทช. และพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งการจัดที่ดินทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การจัดตั้งป่าชุมชน การปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และการป้องกันไฟป่า รวมทั้งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทย เพื่อการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ตลอดจนยกระดับมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อเสริมรายได้ให้กับชุมชนรอบพื้นที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวหลังการเปิดประเทศ การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตามมาตรการ ขาว-เขียว-เทา การจัดแบ่งระบบกลุ่มหาด การสร้างความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสำรวจและจัดทำแผนการจัดการสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อปท. ที่มีสถานการณ์รุนแรง และประสานให้มีเตาเผาขยะติดเชื้อครอบคลุมทุกจังหวัด การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำผิวดินและการพัฒนาขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ คทช. พื้นที่โครงการในพระองค์และโครงการพระราชดำริ และพื้นที่แล้งซ้ำซาก
และเป้าหมายที่ 2 การมุ่งสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model) และสังคมคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วย การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย การจัดทำ Environment Map ส่งเสริมการประเมินมูลค่าทรัพยากรและการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ทั้งการจัดทำระบบบัญชีเศรษฐกิจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนจัดทำผังภูมินิเวศระดับภาคเพื่อการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่รองรับและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสังคมคาร์บอนต่ำให้ครบทุกภูมิภาค ภายในปี 2570 รวมทั้ง การพัฒนาระบบ Digital Platform และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ จะยังคงมุ่งรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไว้ให้คงความอุดมสมบูรณ์ มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อส่งต่อถึงคนในรุ่นอนาคต และเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนให้กับชุมชนเพื่อความสุขของคนไทยและการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังวิสัยทัศน์ “ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามแนววิถีใหม่ ภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”