เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด และจังหวัดสระบุรี ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า ภายใต้โครงการ “ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มอบอุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่ากว่า 2 แสนบาทเพื่อใช้ในการป้องกันและดับไฟป่าใน จ.สระบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธี “ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกลดลงจากการใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ และภัยธรรมชาติ ไม่เพียงแต่ในต่างประเทศเท่านั้น แต่จังหวัดสระบุรีเองก็กำลังตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์นี้ และผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะกับพื้นที่ป่า แต่ไฟป่ายังกระทบต่อระบบนิเวศไปจนถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน การจัดกิจกรรมวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่าที่จัดขึ้นทุกๆ เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยบรรเทาปัญหาในพื้นที่ และทำให้เกิดความสามัคคีของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคประชาชน และหน่วยงานเอกชน บริษัท ซีพี-เมจิ เองก็ถือเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่เข้มแข็ง ที่อาสาเข้ามาร่วมรณรงค์บรรเทาปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กร ที่ร่วมผลักดันสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศอีกด้วย” นายวิชัย บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าว
นายปริญญา คุ้มสระพรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สระบุรี ระบุว่านับตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จังหวัดสระบุรี มีรายงานการลงพื้นที่ดับไฟป่าของเจ้าหน้าที่ 4 ครั้ง การเกิดไฟป่า ทั้งจากธรรมชาติ และการลุกลามจากการเผา ทำให้เกิดความเสียหายในระดับพื้นที่แล้วประมาณ 85 ไร่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตของประชาชน จากผลกระทบที่เกิดจากฝุ่นและควันไฟ นอกจากนั้นพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ยังทำให้สัตว์ป่าและระบบนิเวศได้รับผลกระทบทางตรงเนื่องจาก ป่าเป็นที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ป่า “กิจกรรมวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่าจังหวัดสระบุรี ในปีนี้ มีการออกแบบการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ตามแนวทางของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้ามาจัดการดูแลร่วมกับภาคเอกชน อย่างบริษัทซีพี-เมจิ ที่เป็นพันธมิตรในการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดมาอย่างต่อเนื่องยางนาน โดยมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การจัดนิทรรศการความรู้เรื่องไฟป่า การเดินรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า การปล่อยขบวนรถรณรงค์ป้องกันไฟป่าไปยังทุกอำเภอ การสาธิตการใช้เครื่องมือดับไฟป่าและที่สำคัญคือมีการปลูกต้นเข็มป่าซึ่งเป็นไม้ทนไฟจำนวน 1,600 ต้น เป็นแนวกันไฟ 200 เมตร ในสวนพฤกษศาสตร์พุแค อีกทั้งยังมีการมอบอุปกรณ์ดับไฟป่ามูลค่า 200,000 บาท และการจัดประกวดวาดภาพของนักเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณการจัดงาน และการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จากบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด”
ทางด้านนางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ ซีพี-เมจิ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาความยั่งยืนตามเจตนารมย์ขององค์กรในการ “เพิ่มคุณค่าชีวิต” โดยในการดูแลและเพิ่มคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม มีการวางกรอบความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งจังหวัดสระบุรี ในการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมทั้งมอบอุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง “ซีพี-เมจิ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงสานต่อโครงการป้องกันไฟป่า ซึ่งเป็นภัยพิบัติตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งความช่วยเหลือ และสร้างการตระหนักรู้เรื่องของภัยพิบัติตามธรรมชาติให้กับชุมชนต่างๆ เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังไฟป่า และร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำที่สำคัญไว้ให้กับพื้นที่ของจังหวัดสระบุรีด้วย” อนึ่ง กิจกรรมในวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่าประจำปี 2567 มีพนักงานซีพี-เมจิ และพนักงานจากบริษัทซีพีเอฟ จำกัด ทั้งหมดกว่า 100 คน เข้าเป็นจิตอาสา ร่วมกับสมาชิกในชุมชน ครู และนักเรียนจากพื้นที่ 4 อำเภอรอบผืนป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น สวนพฤกษศาสตร์พุแค เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย
นอกจากนั้น บริษัทซีพี-เมจิ จำกัด ยังสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่า จำนวน 12 รายการ อาทิ เครื่องเป่าลมเป่าใบไม้ชนิดเครื่องยนต์ ถังฉีดน้ำ ไม้ตบไฟ พลั่วดับไฟ ครอบดับไฟ เครื่องตัดหญ้า เลื่อยยนต์ เลื่อยคันธนู เลื่อยโค้งต่อด้าม จอบถากหญ้า ไม้กวาด แว่นตาครอบ พร้อมด้วยนมเมจิคุณภาพ และอาหารพร้อมทาน ไส้กรอก ไก่ปรุงสุก จากซีพีเอฟ เสริมพลังกายเติมกำลังใจสำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการทำงานด้วย บริษัทซีพี-เมจิ จำกัดในกลุ่ม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ริเริ่ม “โครงการ ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ” ในปี พ.ศ 2564 โดยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ จ.สระบุรี รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง สนับสนุนการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 52,000 ต้น บนพื้นที่รวม 260 ไร่ และมีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 1,000 ไร่ ในปี พ.ศ. 2573 เพื่อดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยในปี พ.ศ.2593