วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมซักซ้อมแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยมีผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารสืบ นาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่และหน่วยงานสนับสนุนบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่
ตามที่ได้ประชุมมอบนโยบายผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และมีคำสั่งการบริหารเชิงพื้นที่ให้แต่ละพื้นที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ หรือ Single Command สู่การบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ ซึ่งเป้าหมายของการบริหารจัดการแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ เป็นการออกแบบการบริหารเชิงพื้นที่ขึ้นใหม่ โดยบูรณาการแผนทั้งบุคลากร การทำงาน และงบประมาณของหน่วยงานเป็นหนึ่งเดียว โดยผนวกภารกิจที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ เช่น การป้องกันและปราบปราม การควบคุมไฟป่า การฟื้นฟูระบบนิเวศ ที่ดินและราษฎร รวมถึงอนุสัญญา เข้ากับภารกิจหลักของพื้นที่อนุรักษ์นั้นๆ ซึ่งจากการประชุมหารือ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ได้มีการคัดเลือกหน่วยงานภาคสนามเข้าร่วมบูรณาการ 2,614 หน่วย ประกอบด้วย สถานีควบคุมไฟป่า 150 หน่วย หน่วยจัดการต้นน้ำ 234 หน่วย สวนป่า/โครงการด้านฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,586 หน่วย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 174 หน่วย โครงการขยายผลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 61 หน่วย จากนั้นได้คัดเลือกพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่นำร่อง 20 หน่วย จากสำนักอุทยานแห่งชาติ 10 พื้นที่ ได้แก่ 1.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 2. อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า 3. อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 4. อุทยานแห่งชาติดอยภูคา 5. อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก 6. อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 7. อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 8. อุทยานแห่งชาติผาแดง 9. อุทยานแห่งชาติแม่ปิง และ10. อุทยานแห่งชาติสาละวิน และจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า 10 พื้นที่ ได้แก่ 1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน 2. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด 4. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว 5. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง 6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 7. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 8. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย 9. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย 10. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน
นายอรรถพล ได้กำชับให้ทั้ง 20 พื้นที่นำร่อง เร่งกำหนดโครงสร้างการทำงานให้ชัดเจนตามกรอบการดําเนินงานตามแผนงานในปีงบประมาณ 2566 โดยให้ยึดถือตามระเบียบ กฎหมาย หนังสือสั่งการและคําสั่งต่าง ๆที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดและเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินประจําปีตามที่ได้รับจัดสรร เพื่อออกแบบการทำงานและดำเนินการตามแผนและนำไปสู่การปฏิบัติงานได้จริง ทั้งนี้ให้มีการนำบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมา เช่น กรณีเรื่องปัญหาไฟป่าที่บางหน่วยงานยังทำงานได้ไม่เต็มที่ไม่เต็มศักยภาพ นำมาใช้เป็นตัวอย่างในการกำหนดแผนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น.