กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำคณะทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทยพร้อมคู่สมรส ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิมิลัน จ.พังงา
หนึ่งของแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันซึ่งอยู่ในบัญชีเบื้องต้นในการเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
วันที่ 31 มีนาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พล.ร.ท.อาภากร อยู่คงแก้ว ทัพเรือภาค 3 พร้อมด้วย นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นำคณะทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทยพร้อมคู่สมรส ทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพและความสำเร็จของประเทศไทยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียงประจำปี 2566 ณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา
โดยคณะฑูตฯ ได้เดินทางลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู้เกาะสิมิลัน จ.พังงา เพื่อติดตามโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และร่วมปล่อยเต่าทะเล คืนสู่ธรรมชาติ
นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับคณะฑูตฯ สู่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ซึ่งหมู่เกาะสิมิลันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ในปี พ.ศ. 2561 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 900,000 คน ด้วยทิวทัศน์อันสวยงามของทะเลอันดามันและความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นเอกลักษณ์ไม่มีที่ใดเหมือน ระบบนิเวศทั้งบนบกและในทะเลอันดามันเกื้อกูลชีวิตนับพันชนิด ยังความมีชีวิตชีวาให้แนวปะการัง อีกทั้งการประมงในทะเลอันดามัน คุณค่าอันโดดเด่นนั้นทำให้หมู่เกาะสิมิลันได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2025 และปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันซึ่งอยู่ในบัญชีเบื้องต้นในการเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
การจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทย อาทิ อุทยานแห่งชาติฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีความมุ่งหมายให้การอนุรักษ์เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ไม่เพียงแต่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่เรายังให้ความสำคัญถึงชีวิตความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นด้วย เราตระหนักเป็นอย่างดีว่าประชาชนท้องถิ่นทุกคนคือพันธมิตรที่สำคัญในการรักษาคุณค่าอันโดดเด่นของพื้นที่อนุรักษ์เหล่านั้นไว้ สิมิลันคือตัวอย่างที่โดดเด่นที่หนึ่งที่เราดำเนินการ ด้วยหมู่เกาะสิมิลันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและสร้างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวสิมิลันซึ่งสร้างประโยชน์ต่อผู้คน ไม่เพียงแค่ในจังหวัดพังงาและจังหวัดใกล้เคียง แต่รวมถึงภาพรวมของประเทศไทย
การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ มาตรการต่าง ๆ ได้ถูกประยุกต์ใช้ เช่น การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวบนหลักการของศักยภาพการรองรับของพื้นที่ การลดขยะจำนวนภาชนะโฟมและพลาสติก การประยุกต์ใช้มาตรฐานอุทยานแห่งชาติสีเขียว นอกจากนั้น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันต้อนรับทุกแนวคิดจากทุกภาคส่วนที่สนับสนุนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจ BCG
สำหรับ พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ที่นำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันที่อยู่ตอนบนของคาบสมุทรไทย ในเขตจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต รวมทั้งสิ้น 6 อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ รวมไปถึงพื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดระนอง และพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญทางฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย 3 นิเวศภูมิภาค (Ecoregion) ที่สำคัญ คือ นิเวศภูมิภาคป่าชายเลนและกลุ่มเกาะชายฝั่ง นิเวศภูมิภาคหมู่เกาะทะเลลึก และนิเวศภูมิภาคชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่ง