กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ และ สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และบริษัท Sky Visual Imaging Venture Company Ltd. (SkyVIV) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมสำรวจโครงการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูงด้วยอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ในเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 2 – 5 พฤศจิกายน 2565 ณ อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี
โดยนำผลที่ได้มาจัดการพื้นที่ที่อยู่ในแนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ โดยการมุ่งเน้นให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีการถ่ายภาพทางอากาศจากอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ใช้ทดแทนภาพถ่ายจากดาวเทียม ที่มีข้อจำกัดด้านความละเอียดของข้อมูลภาพถ่าย สภาพอากาศ เมฆปกคลุม ซึ่งจะทำให้ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากร ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างกลมกลืนและเกื้อกูลกับธรรมชาติ เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2561 วันที่ 18 มิถุนายน 2561 ซึ่งปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ จำนวน 227 ป่าอนุรักษ์ ที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4,265 หมู่บ้าน
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ร่วมกับชุมชนตรวจสอบพื้นที่และกำหนดแนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ ให้ชัดเจนเป็นที่ยอมรับร่วมกันเมื่อผ่านการพิจารณาตามแนวทางที่กำหนดเพื่อนำมาจัดทำแผนงาน โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และ 65 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 121 สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นปฏิรูป 1.6.2 การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการลดความรุนแรงของผลกระทบและความขัดแย้งด้านที่ดินกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการกำหนดขอบเขตบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ชัดเจน ควบคุมการบุกรุกและขยายพื้นที่ทำกิน จึงอาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับที่มีความถูกต้องทางตำแหน่ง และรายละเอียดความคมชัดของข้อมูลสูง สามารถใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ ตรวจพิสูจน์สิทธิที่ดิน สามารถนำมาใช้บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อป้องกัน อนุญาต จัดที่ดิน ฟื้นฟู วิจัย และแผนงาน ทั้งในระยะสั้น กลาง และระยะยาว ในการตอบสนองความต้องการใช้งานได้รวดเร็วทันเวลา มีความต่อเนื่องของงานและข้อมูลที่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเป็นการสร้างสมดุลทางธรรมชาติเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน