• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานฯ​ น้ำตกโยง​ เก็บตัวอย่างค้างคาวโพรงต้นช้าม่วง​ หลังพบ นทท. เจอเชื้อราในปอด​

วันที่​ 6 ตุลา​คม 2565 นายพีระชัย คงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เปิดเผย​ว่า​ หลังพบนักท่องเที่ยว​เข้าชม “ค้างคาว” ใน โพรงต้นช้าม่วง​ ตรวจเจอเชื้อราในปอด ทำให้ป่วยด้วยโรคฮีสโตพลาสโมสิส นั้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ​ ร่วมกับนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ทีมคณะสัตวแพทยศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย สาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายปกครองท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เข้าตรวจสอบพื้นที่เก็บตัวอย่างมูลค้างคาว ดิน และสารคัดหลั่งบริเวณโพรงต้นช้าม่วง ท้องที่ ม.5 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง​ จ.นครศรีธรรมราช ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ฯที่ ตย.1 (น้ำตกคลองจัง) เพื่อส่งตรวจเชื้อ ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย พร้อมจัดทำป้ายปิดประกาศห้ามเข้า และแนวกั้นชั่วคราวล้อมรอบต้นช้าม่วงที่เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว

ค้างคาวเป็นอันดับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองรองจากอันดับสัตว์ฟันแทะ ค้าวคาวคิดเป็น20%ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั้งหมด โดยมีชนิดมากกว่า 1,400 ชนิด ค้างคาวได้รับการจำแนกออกเป็นสองอันดับย่อยโดยดั้งเดิม ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ที่เป็นส่วนใหญ่ และค้างคาวกินแมลงที่สามารถใช้เสียงสะท้อนระบุตำแหน่งที่ตั้งได้ แต่หลักฐานใหม่เมื่อไม่นานมานี้สนับสนุนการจำแนกอันดับออกเป็นอันดัย่อย Yinpterochiroptera และ Yangochiroptera โดยจัดค้างคาวผลไม้บางกลุ่มรวมกับค้างคาวกินแมลงหลายชนิดในอันดับย่อยแรก ค้างคาวจำนวนมากบริโภคแมลง และส่วนใหญ่ของค้างคาวที่เหลือบริโภคผลไม้ มีค้างคาวบางชนิดที่บริโภคสัตว์อื่นเป็นอาหารแทนแมลง​ เช่น ค้างคาวแวมไพร์ที่บริโภคเลือด ค้างคาวส่วนใหญ่เป็นสัตว์ออกหากินตอนกลางคืน และส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ก็เกาะอาศัยอยู่ในถ้ำหรือที่พักอื่น ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าค้างคาวมีพฤติกรรมเช่นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงจากผู้ล่าเหยื่อ ค้างคาวพบได้ทั่วโลกยกเว้นในบางบริเวณที่หนาวจัด ค้างคาวเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศในการผสมเกสรดอกไม้และกระจายเมล็ดของดอกไม้ไปตามที่ต่าง ๆ พืชเขตร้อนจำนวนมากต้องพึ่งพาค้างคาวเหล่านี้ในการผสมเกสรและการกระจายเมล็ด

ค้างคาวให้ประโยชน์บางอย่างแก่มนุษย์ แต่แลกมากับภัยคุกคามบางอย่าง มูลค้างคาวสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยขี้นกได้ ค้างคาวยังบริโภคแมลงศัตรูพืช ลดความต้องการในสารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ บางครั้งค้างคาวก็มีจำนวนมากพอที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และใช้บริโภคเป็นอาหารในทวีปเอเชียและขอบแปซิฟิก ค้างคาวยังเป็นพาหะธรรมชาติของจุลชีพก่อโรคหลายชนิด เช่น โรคพิษสุนัขบ้า และ ไวรัสโคโรนาเนื่องจากค้างคาวเคลื่อนไหวได้ง่ายมาก ชอบสมาคม และมีอายุยืน ค้างคาวจึงแพร่โรคได้อย่างรวดเร็ว ในวัฒนธรรมจำนวนมาก ค้างคาวมักมีความเกี่ยวข้องกับความมืด ความประสงค์ร้าย เวทมนตร์ แวมไพร์ และความตาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด